Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุที่มาและศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคำยืมภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาษาไทยถิ่นเหนือ โดยศึกษาจากข้อมูลลายลักษณ์ ได้แก่ จารึกล้านนาที่จารเป็นภาษาไทยวน พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นเหนือ และตัวบทวรรณคดีล้านนา ผลการศึกษาพบว่ามีคำยืมภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาษาไทยถิ่นเหนือทั้งหมด 594 คำ เป็นคำยืมจากภาษาเขมร 536 คำ คิดเป็นร้อยละ 90.24 เป็นคำยืมจากภาษามอญ 18 คำ คิดเป็นร้อยละ 3.03 เป็นคำยืมจากภาษาละว้า 3 คำ คิดเป็นร้อยละ 0.50 และเป็นคำยืมจากคำศัพท์ร่วมเชื้อสายภาษาตระกูลมอญ-เขมรซึ่งไม่อาจระบุภาษาได้อีก 37 คำ คิดเป็นร้อยละ 6.23 สัดส่วนคำยืมจากภาษาเขมรในภาษาไทยถิ่นเหนือจำนวนมากเช่นนี้เกิดจากอาณาจักรล้านนารับอิทธิพลด้านอักษรศาสตร์แบบเขมรโบราณผ่านอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรอยุธยา คำยืมภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาษาไทยถิ่นเหนือแบ่งระดับความมั่นใจของข้อสันนิษฐานได้ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ 4 (เป็นคำยืมอย่างชัดเจน) 546 คำ คิดเป็นร้อยละ 91.92 ระดับ 3 (เป็นไปได้ว่าเป็นคำยืม) 38 คำ คิดเป็นร้อยละ 6.40 ระดับ 2 (อาจเป็นคำยืม) 5 คำ คิดเป็นร้อยละ 0.84 และระดับ 1 (พบหลักฐานการยืมน้อยมาก) 5 คำ คิดเป็นร้อยละ 0.84 การเปลี่ยนแปลงคำยืมภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาษาไทยถิ่นเหนือ ศึกษาเฉพาะคำยืมที่มีข้อสันนิษฐานระดับ 4 และระดับ 3 และศึกษาคำศัพท์จากรูปเขียนและเสียงที่สะท้อนผ่านรูปเขียน ผลการวิจัยพบทั้งคำยืมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและคำยืมที่มีการเปลี่ยนแปลง กรณีคำยืมที่มีการเปลี่ยนแปลงพบรูปแปรจำนวนมากของคำที่มีพยัญชนะต้นควบกล้ำโครงสร้าง Cr- และในคำศัพท์ที่มีพยัญชนะต้นกักเพดานแข็งควบกล้ำกับพยัญชนะนาสิก พยัญชนะเหลว หรือพยัญชนะรัว สำหรับการเปลี่ยนแปลงพยัญชนะท้ายพบในคำศัพท์ที่มีเสียง -c -ɲ -s -r -l นอกจากนี้ยังพบการเพิ่มรูปวรรณยุกต์ในคำศัพท์ที่ปรากฏในโคลง การศึกษาคำยืมภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาษาไทยถิ่นเหนือสนับสนุนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ว่ากลุ่มชนที่พูดภาษาไทและกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรได้มีการติดต่อสัมพันธ์ส่งทอดทั้งภาษาและวัฒนธรรมในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยอย่างซับซ้อนเป็นระยะเวลานาน