Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติทางกายภาพของพอร์ตแลนด์ซีเมนต์สีขาวที่ผลิตในประเทศไทยที่มีบิสมัตออกไซด์เมื่อผสมกับแคลเซียมคลอไรด์และเมททิลเซลลูโลส เปรียบเทียบกับ พอร์ตแลนด์ซีเมนต์สีขาวที่มีบิสมัตออกไซด์ผสมด้วยน้ำกลั่น และ ไวท์โปรรูทเอ็มทีเอผสมด้วยน้ำกลั่น เตรียมพอร์ตแลนด์ซีเมนต์สีขาวที่ผลิตในประเทศไทยจากสองบริษัทที่มีบิสมัตออกไซด์ผสมด้วยน้ำกลั่นหรือของเหลวที่มีสารเร่งการแข็งตัวและไวท์โปรรูทเอ็มทีเอผสมด้วยน้ำกลั่น อย่างละ 10 ตัวอย่าง ตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีด้วยการวิเคราะห์การเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์และศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนชนิดส่องกราด วัดความเป็นกรดด่าง ระยะเวลาแข็งตัว ความทึบรังสี ความทนแรงอัด และสภาพละลายได้ วิเคราะห์ผลการทดลองด้วยสถิติความแปรปรวนแบบทางเดียว (p < 0.05) ซีเมนต์ทุกกลุ่มมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายคลึงกัน ยกเว้นไวท์โปรรูทเอ็มทีเอที่พบอนุภาคของแคลเซียม ไฮดรอกไซด์ ไวท์โปรรูทเอ็มทีเอมีความเป็นด่างสูงที่สุด (12.07) เมื่อซีเมนต์แข็งตัวเต็มที่ ซีเมนต์ที่ผสมด้วยสารเร่งเวลาแข็งตัวจะมีเวลาการแข็งตัวที่สั้นกว่า แต่มีความทนแรงอัดที่ 21 วันสูงกว่าซีเมนต์กลุ่มที่ผสมน้ำกลั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซีเมนต์ที่ผสมด้วยสารเร่งเวลาแข็งตัวมีสภาพละลายได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในวันแรก แต่เมื่อผ่านไป 21 วัน ซีเมนต์ทุก กลุ่มมีสภาพละลายได้ไม่แตกต่างกัน พอร์ตแลนด์ซีเมนต์สีขาวที่ผลิตในประเทศไทยที่มีบิสมัตออกไซด์เมื่อผสมด้วยสารเร่งเวลาแข็งตัวมีคุณสมบัติทางกายภาพโดยรวมที่ดี และมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเพื่อใช้เป็นวัสดุอุดย้อนปลายรากได้