Abstract:
ศึกษาความเป็นมาของชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาส ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี วิเคราะห์องค์ประกอบและกระบวนท่าฟ้อนของหมอลำกลอนทำนองขอนแก่น ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะเอกลักษณ์ในการแสดงหมอลำกลอนและหมอลำซิ่ง ตลอดจนวิเคราะห์การแสดงหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาสกับบริบททางสังคม จังหวัดอุดรธานี วิธีวิจัยใช้การศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ แสดง การสาธิตจากศิลปินหมอลำ และการฝึกหัดของผู้วิจัย ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาส ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้มีกลุ่มศิลปินหมอลำเข้ามาก่อตั้งสำนักงานคณะหมอลำ และเปิดธุรกิจการแสดงหมอลำประเภทต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502-2553 ระยะเวลา 50 ปี มีสำนักงานคณะหมอลำที่มีการเข้ามาตั้งขึ้นมากกว่า 80 คณะ ในบริเวณเดียวกันจนประชาชนในจังหวัดอุดรธานีเรียกแถวนี้ว่า ชุมชนหมอลำ คุ้มหมอลำ และตลาดหมอลำ ศิลปะการแสดงหมอลำในชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดอุดรธานี มีวิวัฒนาการตามยุคสมัย ภายใต้ภาวะกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันในปัจจุบัน ลีลาวาดฟ้อนมีทั้งแบบท่าฟ้อนเกี้ยวหรือท่าฟ้อนแม่บท ลีลาวาดฟ้อนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ชมชื่นชอบผลงานด้านศิลปะการแสดงหมอลำ ซึ่งศิลปินหมอลำแต่ละคนจะมีลีลาวาดฟ้อนแตกต่างกันไป ท่าฟ้อนมีลักษณะการเลียนแบบธรรมชาติของมนุษย์ เลียนแบบกิริยาของสัตว์ และตัวละครในวรรณกรรม การแสดงหมอลำในชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดอุดรธานี มีบทบาทในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอีสาน พบว่าหมอลำซิ่งมีบทบาทในด้านความบันเทิงในฐานะมหรสพในงานประเพณีต่างๆ เป็นส่วนมาก ส่วนหมอลำกลอนมีบทบาทการให้ความรู้ การนำวัฒนธรรมอีสานในเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น ประเพณีวิถีชีวิตประวัติศาสตร์มาประพันธ์เป็นกลอนลำที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นแนวทางชีวิตสำหรับผู้ชมสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นชนบท การแสดงหมอลำในชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาสมีบทบาทในการแก้ปัญหาของบริบททางสังคม คือ บทบาทเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย การแสดงหมอลำเพื่อรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน การควบคุมโรคติดต่อและการแสดงหมอลำรณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ศิลปะการแสดงหมอลำจะยืนหยัดอยู่ได้ในสังคม จำเป็นจะต้องพัฒนาปรับปรุงตนเองให้เข้ากับยุคสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม แต่จะต้องให้อยู่ในศิลปะกลยุทธ์ขอบเขตในการแสดงของตน อีกทั้งจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการส่งเสริมศิลปะการแสดงหมอลำในชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาส ให้อยู่เป็นสมบัติและเกียรติภูมิของชาวอีสานสืบไป