Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับ การเกิดผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมของบริษัทที่ประกาศนโยบายซื้อหุ้นคืน (โครงการแรก) เพื่อศึกษาผลกระทบของการประกาศนโยบายซื้อหุ้นคืน (โครงการแรก) ต่อราคาตลาดของหลักทรัพย์ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานทางการเงินของข้อมูลในงบการเงินกับผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมของบริษัทที่ประกาศนโยบายซื้อหุ้นคืน (โครงการแรก) การศึกษาใช้ข้อมูลของบริษัทที่มีการประกาศนโยบายซื้อหุ้นคืน ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2544 ที่มีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549 จำนวน 25 บริษัท ผลการศึกษาพบว่า มีผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 90% ในช่วง 5 วัน ก่อนและหลังการประกาศนโยบายการซื้อหุ้นคืน (โครงการแรก) นั่นคือในช่วงเวลาทดสอบ 11 วัน และปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% คือ การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนยอดขายต่อค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และ การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนยอดขายต่อลูกหนี้ ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานทางการเงินตัวอื่นๆ ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานทางการเงินจึงสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ใช้งบการเงิน และนักลงทุนในการประเมินผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสม ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ประกาศนโยบายซื้อหุ้นคืน (โครงการแรก) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่แสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการทำกำไรของบริษัท