Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาตำราทั้งสี่ เพื่อความเข้าใจสารัตถะและความมุ่งหมายของ ตัวบทในแง่ของการเป็นอุดมการณ์ที่ทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมจีนมาอย่างยาวนาน โดยศึกษาจากตัวบทที่เป็นเอกสารชั้นต้น และศึกษาวิเคราะห์ในขอบเขตสามด้าน ได้แก่ การประกอบสร้างวาทกรรมที่ปรากฏในตำราทั้งสี่ กลวิธีทางภาษาที่ประกอบสร้าง วาทกรรมต่างๆ ในตำราทั้งสี่ และศึกษาอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในตำราทั้งสี่ ซึ่งมีวาทกรรมเป็นสนามแห่งการผลิตซ้ำอุดมการณ์เหล่านั้น ผลการศึกษาพบว่า ตำราทั้งสี่ ประกอบสร้างวาทกรรมชุดหนึ่งซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของสังคมจีน โดยวาทกรรมที่นำเสนอในตำราทั้งสี่ ประกอบไปด้วย วาทกรรมสร้างเสถียรภาพของสังคม วาทกรรมสร้างชนชั้นปกครอง และวาทกรรมสร้างความชอบธรรมแห่งการปกครอง ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้อาศัยกลวิธีทางภาษาในการประกอบสร้าง เช่น การเลือกใช้คำ การใช้อุปลักษณ์ การใช้โวหารเปรียบเทียบคู่ตรงข้าม โวหารคู่ขนาน การใช้สหบท การใช้ตำนาน
การสร้างภาพตัวแทน
การตั้งปุจฉา-วิสัจฉนา เป็นต้น นอกจากนี้ วาทกรรมที่พบในตำราทั้งสี่นั้นยังเป็นแหล่งผลิตซ้ำอุดมการณ์ทางการเมืองของสังคมจีน อาทิ อุดมการณ์เอกภาพ อุดมการณ์หน้าที่ อุดมการณ์ความกลมกลืน อุดมการณ์ธรรมราชา อุดมการณ์ขัดเกลาตนเอง อุดมการณ์สร้างความชอบธรรมในการการปกครอง และอุดมการณ์ต่อต้านการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ซึ่งผลของอุดมการณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการธำรงรักษาซึ่งเสถียรภาพของสังคมจีนมาอย่างยาวนาน ตำราทั้งสี่ซึ่งอุดมด้วยค่านิยมและโลกทัศน์ทั้งมวลของลัทธิหรูทำหน้าที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ การที่ตำราทั้งสี่เป็นตำราคลาสสิกที่ใช้กันมาตลอดประวัติศาสตร์ได้ เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ตำราทั้งสี่เป็นสิ่งที่บรรจุคุณค่าและความหมายที่เป็นรากแท้ของจิตวิญญาณแห่งสังคมจีน ตลอดจนเป็นหลักฐานอ้างอิงการครุ่นคิดและการดำรงชีวิตในวิถีแห่งวัฒนธรรมจีน