Abstract:
การเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนระบบการผลิตและการออกอากาศของสื่อโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิทัลของประเทศไทยทำให้สามารถใช้สื่อโทรทัศน์เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการณ์และบทบาทของสื่อโทรทัศน์ในการเผยแพร่ความรู้สำหรับผู้สูงอายุ 2) ศึกษาความต้องการและพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ และ 3) ศึกษาแนวทางในการกำหนดนโยบายการผลิตรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้แนวคิด “การสูงวัยเชิงรุก” เป็นแนวทางในการศึกษาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ ดังนี้ 1) สำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง และวิพากษ์รายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุจำนวน 15 ตอนโดยสุ่มแบบง่ายจากรายการโทรทัศน์ 5 รายการที่ออกอากาศในช่วงปี พ.ศ.2557-2558 2) สำรวจความต้องการและพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ โดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามกับผู้สูงอายุตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร จำนวน 420 คน ที่สุ่มแบบง่ายหลายขั้นตอน และ 3) สัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 11 คน เพื่อทราบแนวทางในการกำหนดนโยบายเพื่อผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ผลการวิจัยพบว่า 1) ประเทศไทยมีสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล 48 สถานีทำให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ทั้งระบบมีสถานีรวมทั้งสิ้น 768 สถานี ในจำนวนนี้มีรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุโดยตรงน้อยมาก คือ มี 5 รายการจาก 4 สถานี 2) รายการที่มีอยู่มีบทบาทส่งเสริมแนวคิดการสูงวัยเชิงรุก แต่ขาดมิติด้านความลึก และภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุที่ปรากฏในแต่ละรายการแตกต่างกันตามนโยบายของเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยมีวยาคติต่อผู้สูงอายุในหลายลักษณะ 3) ผู้สูงอายุตัวอย่างรู้จักและรับชมรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุในสัดส่วนที่ต่ำ เพราะไม่รู้ว่ามีรายการดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ต้องการรับชมรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุทุกวัน โดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวกับสุขภาพ และต้องการมีส่วนร่วมในรายการ ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับการเชื่อมโยงรายการเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สื่อสังคม เพื่อความสะดวกในการรับชมและในการมีส่วนร่วมในรายการ และ 4) ผู้ให้ข้อมูลหลักเห็นว่าการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุต้องกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน โดยให้บรรจุไว้ในผังรายการของทุกสถานีโทรทัศน์ และนอกจากจะมีเนื้อหาการสูงวัยเชิงรุก ต้องมีเนื้อหาที่เชิดชูคุณค่าของผู้สูงอายุ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของประชากรทุกรุ่นวัย งานวิจัยนี้ยังมีข้อเสนอแนะและเสนอแนวทางการผลิตรายการโทรทัศน์ต้นแบบ เพื่อให้สื่อโทรทัศน์ของไทยมีทั้งบทบาทนำและเสริมย้ำการสูงวัยเชิงรุก เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ไว้ด้วย