Abstract:
โรคพิษสุนัขบ้าเทียมเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย และก่อความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยอยู่เป็นระยะๆ การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตโปรตีนจากยีนยูนีคซ๊อต 8 ของไวรัสพิษสุนัขบ้าเทียมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นชุดทดสอบโรคพิษสุนัขบ้าเทียมชนิดอิมมูนโนโครมาโตกราฟฟิก โดยการศึกษานี้ใช้ไวรัสพิษสุนัขบ้าเทียมสายพันธุ์ 8NP74 นำมาเพิ่มจำนวนดีเอนเอที่ตำแหน่งนิวคลีโอไทด์ที่ 156 ถึง 714 ของยีนยูนีคช๊อต 8 ด้วยปฎิกริยาลูกโซ่โพลิเมอร์เรส นำผลผลิต gE fragment (ขนาด 573 คู่เบส) ดังกล่าวไปโคลนเข้าพลาสมิด pGEM-Teasy ให้ชื่อเป็น พลาสมิด gE pGEM-T แล้วใส่เข้าไปในแบคทีเรียอีโคไลสายพันธุ์ JM109 ทำการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียแล้วสกัดพลาสมิด gE pGEM-T ออกมาจากแบคทีเรีย และทำการตัดด้วยเอนไซม์ EcoRI ก่อนทำการเชื่อมต่อส่วนของยีนยูนีคซ๊อต 8 ที่ถูกตัดออกมาเข้าสู่พลาสมิด pGEX 5x-3 ซึ่งใช้เป็น expression vector โดยใช้แบคทีเรียอีโคไลสายพันธุ์ Rosetta DE3 plysS เป็นแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีน ตรวจสอบความถูกต้องของลำดับนิวคลีโอไทด์ก่อนทำการกระตุ้นแบคทีเรียให้ทำการสร้างรีคอมบิแนนท์โปรตีน gE นำรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตได้ไปทดสอบ Western immunoblotting analysis โดยใช้ซีรัมสุกรที่ให้ผลบวกกับไวรัสพิษสุนัขบ้าเทียมด้วยวิธีอีไลซา (HerdCheck Anti-ADV gpI, IDEXX, USA) และนำไปเปรียบเทียบกับโปรตีนที่สกัดจากแบคทีเรียควบคุม พบการติดสีน้ำตาลที่แถบโปรตีนขนาดประมาณ 47 กิโลดาลตัน นำโปรตีนที่ได้ไปทดสอบ Dot blot analysis พบว่าสามารถทำปฎิกริยากับซีรัมสุกรที่ให้ผลบวกกับไวรัสพิษสุนัขบ้าเทียมด้วยวิธีอีไลซาได้ จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีน gE จากยีนยูนีคซ๊อต 8 ได้และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำไปพัฒนาเป็นชุดทดสอบโรคพิษสุนัขบ้าเทียมชนิดอิมมูโนโครมาโตกราฟฟิกได้