Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริจเฉทการสนทนาระหว่างจิตแพทย์และผู้ป่วยนอกในการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้น โดยมีจุดประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษา 1) โครงสร้างและองค์ประกอบในปริจเฉทการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้นตามแนวคิดสนทนาวิเคราะห์ 2) กลวิธีทางภาษาในปริจเฉทการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้นของจิตแพทย์ ผู้ป่วยนอก และญาติผู้ป่วย 3) ปัจจัยที่จิตแพทย์คำนึงถึงในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยนอกและญาติผู้ป่วยในปริจเฉทการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้น ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเก็บข้อมูลการบันทึกเสียงและถอดเสียงเป็นตัวอักษรตามแนวคิดสนทนาวิเคราะห์ในสถานการณ์การตรวจรักษาโรคทางจิตเวชของจิตแพทย์ 10 คน จากโรงพยาบาลทางจิตเวช 5 แห่งในประเทศไทย ได้ขออนุญาตบันทึกเสียงกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน เกณฑ์การคัดเข้าของจิตแพทย์ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ กลุ่มข้อมูลผู้ป่วยนอกและญาติผู้ป่วยมีเกณฑ์การคัดเข้าด้วยความสมัครใจเช่นกันโดยจิตแพทย์ระบุอาการของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และภาวะเครียด อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึง 60 ปี ไม่จำกัดเพศหรือสถานภาพ โดยสมมติชื่อ-สกุล สถานที่ วันเวลา รวมทั้งสิ้น 84 สถานการณ์ ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างหลักในการสนทนาประกอบด้วย การเปิดการสนทนา การดำเนินการสนทนา และการปิดการสนทนา ขั้นตอนการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้นในผู้ป่วยนอกรายใหม่จะประกอบด้วย 10 ขั้นตอน คือ การเปิดการสนทนา การนำเข้าสู่วัตถุประสงค์ การสอบถามอาการสำคัญและการซักประวัติ การสอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอาการสำคัญหรือการตรวจสภาพจิต การสอบถามสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค การแจ้งการวินิจฉัยแยกโรค การวางแผนการรักษาและการใช้ยา การเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถาม การนัดหมาย การปิดการสนทนา จุดเด่นอยู่ที่การแจ้งผลการวินิจฉัยแยกโรคเพราะจะพบในโครงสร้างการสนทนากับผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น ขั้นตอนการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้นในผู้ป่วยนอกรายเก่าที่อาการดีขึ้นจะประกอบด้วย 9 ขั้นตอน คือ การเปิดการสนทนา การนำเข้าสู่วัตถุประสงค์ การสอบถามอาการสำคัญและการซักประวัติ การสอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอาการสำคัญหรือการตรวจสภาพจิต การให้ผู้ป่วยประเมินตนเองและสอบถามผลข้างเคียงจากการใช้ยา การทบทวนวิธีการรักษาและการปรับยา การเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถาม การนัดหมาย และการปิดการสนทนา ขั้นตอนการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้นในผู้ป่วยนอกรายเก่าที่อาการไม่ดีขึ้นจะประกอบด้วย 9 ขั้นตอน คล้ายกับผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแต่มีความแตกต่างที่ขั้นตอนการสอบถามสาเหตุที่อาการไม่ดีขึ้นและการสอบถามชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โครงสร้างในการสนทนากับผู้ป่วยรายเก่าจะรวดเร็วกว่าผู้ป่วยรายใหม่ บางสถานการณ์ผู้ป่วยรายเก่าเป็นฝ่ายที่สามารถเปิดและปิดการสนทนาได้ คู่วัจนกรรมในการสนทนาพบ 7 รูปแบบ คือ การทักทาย-การตอบรับคำทักทาย การถาม-การตอบ การอธิบาย-การตอบรับการอธิบาย การแนะนำ-การตอบรับการแนะนำ การสั่ง-การตอบรับคำสั่ง การเจรจาต่อรอง-การตอบรับ/ปฏิเสธการเจรจาต่อรอง และการกล่าวลา-การตอบการกล่าวลา โดยพบคู่วัจนกรรมการถาม-การตอบมากที่สุด จุดเด่นคือคู่วัจนกรรมการต่อรอง-การตอบรับการต่อรอง วัตถุประสงค์ในการใช้กลวิธีทางภาษาของจิตแพทย์ประกอบด้วย กลวิธีที่ใช้เพื่อสอบถามและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ให้ข้อมูลกับผู้ป่วยหรือญาติ ให้ผู้ป่วยหรือญาติปฏิบัติตาม ให้ผู้ป่วยหรือญาติคลายความวิตกกังวล สร้างความเป็นกันเองกับผู้ป่วยหรือญาติ จุดเด่นของกลวิธีทางภาษาของจิตแพทย์ คือ การกล่าวซ้ำ การย้ำคำถามเดิม วัตถุประสงค์ในการใช้กลวิธีทางภาษาของผู้ป่วยประกอบด้วย กลวิธีที่ใช้เพื่อให้ข้อมูลประเด็นหลัก ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ปิดบังข้อมูล ป้องกันตนเอง สร้างความเป็นกันเอง โน้มน้าวใจให้จิตแพทย์ยินยอม จุดเด่นของกลวิธีทางภาษาของผู้ป่วย คือ กลวิธีการขยายความ การใช้เรื่องเล่า และการกล่าวซ้ำ วัตถุประสงค์ในการใช้กลวิธีทางภาษาของญาติประกอบด้วย กลวิธีที่ใช้เพื่อให้ข้อมูลประเด็นหลัก สอบถามและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ปิดปังข้อมูล ป้องกันตนเอง สร้างความเป็นกันเอง โน้มน้าวใจให้จิตแพทย์ยินยอม ดำเนินการสนทนาให้ต่อเนื่อง และต้องการให้ผู้ร่วมการสนทนาปฏิบัติตาม จุดเด่นของกลวิธีทางภาษาของญาติ คือ การขยายความและการใช้เรื่องเล่า ปัจจัยที่จิตแพทย์คำนึงถึงในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยนอกและญาติผู้ป่วยในปริจเฉทการตรวจรักษาโรคทางจิตเวชเบื้องต้นสรุปว่า พบทั้งหมด 4 ปัจจัย คือ อาการของโรค อายุ สถานภาพ และเพศ ปัจจัยสำคัญประการแรกที่จิตแพทย์คำนึงถึงคืออาการของโรคเพราะมีผลต่อการตรวจรักษาและการวินิจฉัยผู้ป่วย