Abstract:
ประเมินค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมของลักษณะการอยู่รอดของลูกสุกรแรกเกิด (PSB) และการอยู่รอดของลูกสุกรก่อนหย่านม (PSW) ร่วมกับลักษณะน้ำหนักแรกเกิดรายตัว (IBW) และลักษณะขนาดครอก (LS) จากข้อมูลการอยู่รอดของลูกสุกรจำนวน 14,389 บันทึก (1,413 ครอก) จากแม่สุกร 705 ตัว ข้อมูลการอยู่รอดของลูกสุกรพันธุ์แลนด์เรซ ยอร์กเชียร์ และดูร็อก บันทึกในฟาร์มที่เลี้ยงสุกรในโรงเรือนเปิดที่ไม่มีระบบระบายความร้อน เป็นข้อมูลของลูกสุกรที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง 2560 ประมาณค่าองค์ประกอบความแปรปรวนด้วยวิธี Gibbs sampling สำหรับลักษณะแบบไบนารี่และวิธี Average Information Restricted Maximum Likelihood (AIREML) สำหรับลักษณะแบบต่อเนื่อง ผลการศึกษาพบว่า ลำดับท้อง ระยะเวลาการอุ้มท้องของแม่สุกร และกลุ่มของโรงเรือน-ปี-เดือนที่ลูกสุกรเกิด มีอิทธิพลต่อ PSB, PSW และ IBW อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้ PSW และ IBW ยังได้รับอิทธิพลจากพันธุ์ และเพศของสุกร (p<0.05) สำหรับ LS พบว่าขึ้นอยู่กับอิทธิพลของพันธุ์ของลูกสุกร และกลุ่มของโรงเรือน-ปี-เดือนที่ลูกสุกรเกิด (p<0.05) ค่าอัตราพันธุกรรมของ PSB, PSW, IBW และ LS มีค่าเท่ากับ 0.23 ± 0.02, 0.36 ± 0.03, 0.38 ± 0.03 และ 0.22 ± 0.01 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง IBW กับ PSB และ PSW มีค่าสูงเท่ากับ 0.77 ± 0.05 และ 0.85 ± 0.05 ตามลำดับ ในขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง PSB กับ PSW มีค่าปานกลางเท่ากับ 0.69 ± 0.14 สำหรับลักษณะรายครอกพบว่าค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง LS กับลักษณะเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของลูกสุกรแรกเกิด (%PSB) เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของลูกสุกรก่อนหย่านม (%PSW) และน้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ย (ABW) มีค่าเป็นลบเท่ากับ -0.16 ± 0.03 -0.64 ± 0.02 และ -0.99 ± 0.001 ตามลำดับ จากค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่า การคัดเลือกเพื่อเพิ่มน้ำหนักแรกเกิดของลูกสุกรอาจมีผลทำให้ PSB และ PSW เพิ่มขึ้น แต่หากคัดเลือกเพื่อเพิ่ม LS จะมีผลทำให้ %PSB, %PSW และ ABW ลดลง