Abstract:
ศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกหลังจากการใช้น้ำยาบ้วนปากลิสเตอรินฉีดล้างภายในร่องลึกปริทันต์ร่วมกับการบ้วนปากเสริมการขูดเหงือกช่วงล่าง เปรียบเทียบกับการขูดเหงือกช่วงล่างร่วมกับการฉีดล้างภายในร่องลึกปริทันต์ด้วยน้ำกลั่น และการขูดเหงือกช่วงล่างเพียงอย่างเดียว โดยศึกษาผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบในผู้ใหญ่ จำนวน 36 คน ในช่วงเวลา 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยได้รับการรักษาแตกต่างกัน โดยการสุ่มจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการแบ่งชั้นตามระดับคะแนนดัชนีคราบจุลินทรีย์ แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง ได้แก่ กลุ่มที่ขูดเหงือกช่วงล่างร่วมกับการฉีดล้างภายในร่องลึกปริทันต์ และบ้วนปากด้วยลิสเตอริน และกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ขูดเหงือกช่วงล่างร่วมกับการฉีดล้างภายในร่องลึกปริทันต์ด้วยน้ำกลั่น และกลุ่มขูดเหงือกช่วงล่างเพียงอย่างเดียว การฉีดล้างทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และการบ้วนปากทำวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเวลา 12 สัปดาห์ โดยก่อนให้การรักษาผู้ป่วยจะได้รับการขูดหินน้ำลาย เกลารากฟัน และสอนวิธีดูแลอนามัยช่องปากแล้วนัดผู้ป่วยเข้าสู่การวิจัยอีก 1 เดือนถัดไปโดยถือเป็นสัปดาห์ที่ 0 ก่อนการรักษาในสัปดาห์ที่ 0 และหลังการรักษาในสัปดาห์ที่ 6 และ 12 จะวัดค่าทางคลินิก ได้แก่ ดัชนีเหงือกอักเสบ ดัชนีคราบจุลินทรีย์ และอาการเลือดออก รวมทั้งความลึกของร่องลึกปริทันต์ และระดับการยึดติดของอวัยวะปริทันต์ที่ได้จากการวัด ซึ่งวัดด้วยฟลอริดาโพรบ และฟลอริดาดิสก์โพรบร่วมกับชิ้นปิดฟันด้านบดเคี้ยว ผลการวิจัย พบว่าทุกกลุ่มการรักษาสามารถทำให้ลักษณะทางคลินิกดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษา โดยผลการรักษาที่สัปดาห์ที่ 12 กลุ่มทดลองที่ใช้ลิสเตอริน กลุ่มควบคุมที่ใช้น้ำกลั่น และกลุ่มควบคุมที่ขูดเหงือกช่วงล่างเพียงอย่างเดียวสามารถลดความลึกของร่องลึกปริทันต์ได้ 1.24, 0.71 และ 0.61 มิลลิเมตร และเพิ่มระดับการยึดติดของอวัยวะปริทันต์ได้ 0.51, 0.24 และ 0.23 มิลลิเมตร ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการรักษากลุ่มทดลองจะลดดัชนีคราบจุลินทรีย์ ลดความลึกของร่องลึกปริทันต์ และเพิ่มระดับการหดตัวของเหงือกได้มากกว่ากลุ่มควบคุมทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในสัปดาห์ที่ 6 และ 12 ส่วนดัชนีเหงือกอักเสบ และอาการเลือดออกในกลุ่มทดลองจะลดลงแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์ที่ 12 และถึงแม้ว่ากลุ่มลิสเตอรินจะเพิ่มระดับการยึดติดของอวัยวะปริทันต์ได้มากกว่ากลุ่มควบคุมทั้งสองแต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ดังนั้นการใช้ ลิสเตอรีนไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับการยึดของอวัยวะปริทันต์มากกว่าการขูดเหงือกช่วงล่างเพียงอย่างเดียว การลดลงของร่องลึกปริทันต์ของกลุ่มทดลองน่าจะมาจากการหดตัวของเหงือกเป็นส่วนใหญ่ จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การใช้ลิสเตอรีนฉีดล้างภายในร่องลึกปริทันต์ร่วมกับการบ้วนปากเสริมการขูดเหงือกช่วงล่างในโรคปริทันต์อักเสบในผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าไม่สามารถทำให้มีการเพิ่มระดับการยึดติดของอวัยวะปริทันต์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สามารถทำให้ลักษณะทางคลินิกดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมจึงอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ นำไปใช้เสริมการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้ใหญ่ได้ แต่ควรคำนึงถึงการหดตัวของเหงือกที่มากกว่ากลุ่มควบคุม และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเช่น การติดสี และอาการชาชั่วคราวที่ลิ้น