Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างของความคาดหวังที่มีต่อการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีกับผู้ใช้งบการเงิน ซึ่งได้แก่ นักลงทุน ที่ปรึกษาทางการเงิน และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยแบ่งประเด็นพิจารณาเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ บทบาทการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี ความเข้าใจและความเชื่อถือได้ใน รายงานการสอบบัญชีความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี และความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีในกรณีที่ถูกฟ้องร้องและศึกษาแนวทางในการลดความแตกต่างของความคาดหวังที่มีต่อการสอบบัญชี การศึกษาครั้งนี้ใช้แบบสอบถามชนิดเดียวกันในการสำรวจความเห็นของแต่ละกลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่ การใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติอ้างอิง (Kruskal-Wallis H Test และ Mann-Whitney U Test) และการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยสัมบูรณ์ (Absolute value) การวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 แบบให้ผลสรุปไปในทางเดียวกัน พบว่า ความคาดหวังของผู้ใช้งบการเงินแตกต่างจากผู้สอบบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ประเด็นที่มีความแตกต่างสูงสุด คือ ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีในกรณีที่ให้ความเห็นในรายงานการสอบบัญชีผิดพลาด ส่วนแนวทางในการลดความแตกต่างของความคาดหวังที่มีต่อการสอบบัญชีนั้นผู้ใช้งบการเงินเสนอแนะให้ใช้วิธีการเผยแพร่มาตรฐานการสอบบัญชีทางอินเตอร์เน็ต และปรับปรุงรายงานการสอบบัญชีให้เป็นภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สามารถลดความแตกต่างของความคาดหวังได้