Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลุ่มวัยรุ่นตอนต้นในเรื่องความสัมพันธ์ของการถูกล้อเลียนที่ส่งผลให้เกิดความซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ โดยผู้เข้าร่วมงานวิจัย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร มีอายุระหว่าง 13 – 15 ปี การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 433 คน ผู้วิจัยตรวจสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ ด้วยการทดสอบตัวแปรส่งผ่านอย่างมีเงื่อนไข (moderated mediation) ผลการวิจัยพบว่า 1. คุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่าง การถูกล้อเลียน และความซึมเศร้าและความวิตกกังวล (B = .02, p < .05) 2. การยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนไม่ได้เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่าง การถูกล้อเลียน และความซึมเศร้าและความวิตกกังวล แต่การล้อเลียน สัมพันธ์ทางบวกกับการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพียงอย่างเดียว (B = .13, p < .05) 3. ความสามารถในการฟื้นพลัง เป็นตัวแปรกำกับระหว่าง คุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและความซึมเศร้าและความวิตกกังวล (B = -.13, p < .05) และ 4. การถูกล้อเลียนสามารถอธิบายความซึมเศร้าและความวิตกกังวลของวัยรุ่นได้โดยตรง เมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรส่งผ่านทั้ง 2 ตัวแปร (B = .36, p < .05) ผลการวิจัยสามารถนำไปปรับใช้ในการออกแบบโปรแกรมเพื่อจัดการกับปัญหาการล้อเลียน โดยเสริมสร้างให้เด็กมีความสามารถในการฟื้นพลังมากขึ้น โดยผู้วิจัยได้อภิปรายถึงแนวทางการป้องกันต่าง ๆ เพื่อให้เด็กที่่ถูกล้อเลียนสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ส่งผลให้เกิดความซึมเศร้าและความวิตกกังวลตามมา