Abstract:
งานวิจัยเรื่องการสร้างซอสามสายของครูศักดิ์ชัย กาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติการสร้างซอสามสาย กระบวนการสร้างซอสามสาย และศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงซอสามสายของครูศักดิ์ชัย กาย โดยผู้วิจัยเก็บข้อมูลการศึกษาภาคสนามระหว่างปี พ.ศ. 2559 - 2561 ครูศักดิ์ชัย กาย พบปัญหาของซอสามสายว่าเสียงของซอสามสายมักจะถูกกลืนในขณะที่บรรเลงกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น จึงได้ริเริ่มที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพเสียงของซอสามสายให้ดังกังวาน และมีความไพเราะยิ่งขึ้นโดยได้ร่วมมือกับช่างซอระดับแนวหน้าของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าครูศักดิ์ชัย กาย ได้ทำการอนุรักษ์และปรับปรุงทั้งรายละเอียดต่าง ๆ จากกระสวน ซอสามสายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จนทำให้เกิดคุณภาพเสียงและรูปทรงในแบบฉบับของตนได้สำเร็จ ผู้วิจัยได้พบปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงซอสามสายของครูศักดิ์ชัย กาย 6 ประการ คือ 1. การสร้างกะโหลกซอสามสายที่ไร้แกนยึดทวนมีผลทำให้เกิดคุณภาพเสียงที่ดังกังวาน 2. การกำหนดรูปแบบขอบขนงซอสามสายให้มีลักษณะโค้งเว้ารับกับการขึงหน้าซอทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของหนังหน้าซอมากขึ้น 3. พื้นผิวภายในกะโหลกซอที่เรียบมีผลทำให้การกำธรภายในมากขึ้นกว่าซอสามสายสมัยก่อน 4. การลงรักปิดทองภายในกะโหลกซอมีผลทำให้พื้นผิวภายในมีมวลหนาแน่นส่งผลทำให้มีการกำธรเสียงที่ดีขึ้น 5. การคัดเลือกหนังสำหรับขึงหน้าซอที่ใสและมีความบางประมาณ 0.15 มิลลิเมตร มีผลทำให้การสั่นสะเทือนของเสียงมีการสั่นสะเทือนเร็วขึ้น 6. รูปแบบการขึ้นหน้าซอที่ไม่หุ้มหลังกะโหลกซอมีผลทำให้กะโหลกซอสั่นสะเทือนได้เต็มที่ จึงช่วยทำให้เสียงซอมีความดังและกังวานมากขึ้นกว่าซอสามสายแบบเดิม