Abstract:
วิถีการส่งสัญญาณแคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการทางชีวภาพมากมายในยูคาริโอต ตั้งแต่ยีสต์ จนถึงมนุษย์ สารออกฤทธิ์ยับยั้งวิถีการส่งสัญญาณดังกล่าวในมนุษย์ มีประโยชน์ต่อทางการแพทย์เป็นอันมาก สารยับยั้งเหล่านี้ได้แก่ FK506 และ cyclosporine A การทดสอบยาจากสารทดสอบได้พร้อมกันในปริมาณมากเพื่อหาสารออกฤทธิ์ยับยั้งวิถีการส่งสัญญาณแคลเซียมได้ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนนี้ โดยอาศัยหลักการที่สารออกฤทธิ์ยับยั้งสามารถฟื้นฟูเซลล์จากความผิดปกติของการเจริญในเซลล์ยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ที่ขาดยีน ZDS1 (ΔADS1) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่วิถีสัญญาณแคลเซียมถูกกระตุ้นในระดับที่สูง ในงานวิจัยก่อนหน้าคณะผู้วิจัยได้พบสารประกอบคูมารินชนิดหนึ่ง ให้ชื่อว่า CHA-01 จากส่วนสกัดจากใบของต้นส่องฟ้าดง Clausena harmandiana (Pierre) มีฤทธิ์ยับยั้งวิถีการส่งสัญญาณแคลเซียมในยีสต์ได้ ในงานวิจัยนี้คณะผู้วิจัยได้ค้นหาโมเลกุลเป้าหมายของ CHA-01 ในวิถีการส่งสัญญาณแคลเซียมในยีสต์และในเซลล์ไลน์ชนิดเจอร์แคท จากการใช้วิธีทางพันธุศาสตร์ของยีสต์ ในวิถีการส่งสัญญาณของแคลเซียมพบว่า แคลชินูริน น่าจะเป็นโมเลกุลเป้าหมายของ CHA-01 และเมื่อศึกษาในเซลล์ไลน์มนุษย์ชนิดเจอร์แคท พบว่า CHA-01 สามารถยับยั้งการแสดงออกของยีนประมวลรหัสอินเตอร์ลิวคิน 2 (IL-2) ยับยั้งการผลิน IL-2 ตลอดจนยับยั้งการตัดหมู่ฟอสเฟตออกจากโปรตีน NFAT ได้โดยผลการยับยั้งแปรตามความเข้มข้นของ CHA-01 ซึ่งผลการยับยั้งดังกล่าวของ CHA-01 คล้ายกับผลการยับยั้งโดย FK506 ยากดภูมิ ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของแคลชินูริน ผลการทดลองดังกล่าวทำให้ทราบว่า CHA-01 เป็นสารออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของแคลชินูรินนั่นคือ ยับยั้งแอคติวิตี้ของเอนไซม์ฟอสฟาเทส ด้วยเหตุนี้ CHA-01 จึงมีศักยภาพเป็นสารออกฤทธิ์กดภูมิ