Abstract:
ได้ฉายรังสีแกมมาไคโตซานในสถานะของแข็งที่ความแรงรังสี 10, 30, 50, 70 และ 90 kGy ทำการพิสูจน์เอกลักษณ์ของไคโตซานโดยการตรวจสอบหมู่ฟังก์ชันด้วยเทคนิค FTIR ผลที่ได้คือไคโตซานไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักหลังการฉายรังสีแกมมา ทำการวัดน้ำหนักโมเลกุลไคโตซานด้วยเทคนิค GPC การเตรียมสารละลายไคโตซานเพื่อเคลือบข้าวกล้องทำโดยนำผงไคโตซานที่ฉายรังสีแล้วมาละลายในกรดอะซิติก 2% (v/v) ให้ได้ความเข้มข้น 0.5, 1, 2 และ 5% (w/v) หลังจากนั้นปรับค่า pH ให้เป็น 5.6 ด้วย 6 M NaOH ทำการเคลือบข้าวกล้องด้วยการฉีดพ่นและทดสอบในตู้อะครีลิคที่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80% และที่อุณหภูมิห้อง ผลที่ได้คือที่ความเข้มข้น 5% (w/v) และที่ปริมาณรังสี 90 kGy สามารถยืดอายุการเก็บรักษาข้าวกล้องได้นานที่สุด โดยสามารถยืดอายุการเก็บรักษาจาก 22 วัน (ไม่ได้เคลือบ) ออกไปได้ถึงประมาณ 33 วัน เมื่อทำการทดสอบที่อุณหภูมิ 35 - 45oC และที่ความชื้นสัมพัทธ์ 70 - 90% พบว่ายิ่งค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้น เชื้อราก็จะขึ้นได้ไวขึ้น เช่นที่ความชื้นสัมพัทธ์ 90% เชื้อราจะขึ้นภายใน 4 – 7 วัน เมื่อทดลองเคลือบข้าวกล้องด้วยไคโตซานที่ความเข้มข้น 5% (w/v) และที่ปริมาณรังสี 90 kGy และนำมาบรรจุในถุงพลาสติกใสเพื่อจำลองการเก็บตามสภาวะปกติของชาวบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปถึง 4 เดือนก็ยังไม่สามารถสังเกตเห็นเชื้อราขึ้นทั้งข้าวกล้องที่ไม่ได้เคลือบและที่เคลือบ ดังนั้นการเคลือบข้าวกล้องด้วยไคโตซานอาจจะไม่ให้ประโยชน์ในสภาวะการเก็บที่มีความชื้นต่ำ อย่างไรก็ตามหากต้องเก็บรักษาข้าวกล้องในสภาวะแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เช่นในโกดังในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม การเคลือบข้าวกล้องด้วยไคโตซานอย่างเหมาะสมนี้จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี