Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาคลังทรัพยากรปัญญาของผู้สูงอายุชาวไทใหญ่ในด้านวัฒนธรรมดนตรีในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ วัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทใหญ่ พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงสัญลักษณ์และความหมายในกลองก้นยาวอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่ การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทยใหญ่ พบว่าวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทใหญ่ที่สำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การบรรเลงกลองก้นยาว การบรรเลงกลองมองเซิง และการบรรเลงดนตรีจ้าดไต ทั้งกลองก้นยาวและกลองมองเซิงใช้ตีประกอบการฟ้อนและขบวนแห่ในงานประเพณี ทำนองของกลองก้นยาวสำหรับการตีประกอบการฟ้อนนั้นมีกระสวนทำนองสำคัญที่แตกต่างจากกระสวนทำนองประกอบขบวนแห่ แต่รูปแบบทำนองของกลองมองเซิงพบว่ามีทิศทางการดำเนินทำนองไปในทางเดียวกันทั้งแบบการตีประกอบการฟ้อน และแบบการตีประกอบในขบวนแห่ อีกทั้งยังมีรูปแบบการตีโหม่งที่ตายตัว การบรรเลงดนตรีจ้าดไตเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่ขาวไทใหญ่ได้รับมาจากดนตรีราชสำนักของพม่า มีลักษณะทำนองที่สำคัญคือเน้นการซ้ำลูกตกภายในวรรคซ้ำวรรค และซ้ำประโยค อีกทั้งไม่นิยมการแปลทำนอง ในด้านพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้ พบว่า การถ่ายทอดความรู้ในด้านดนตรีเป็นไปในลักษณะมุขปาฐะ พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ และพิธีกรรมยังสะท้อนภาพรวมวัฒนธรรมของศิลปินดนตรีชาวไทใหญ่ในการเป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณครู มีความเคารพนบนอบต่อผู้สูงอายุ ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นศิลปิน ดนตรีชาวไทใหญ่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในด้านดนตรีไปยังเยาวชนรุ่นหลัง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ชี้นำในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีไทใหญ่ให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นอย่างดี การศึกษาเรื่องสัญลักษณ์และความหมายของกลองก้นยาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าผู้สูงอายุยังมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดผ่องถ่ายองค์ความรู้ในฐานะผู้ประกอบพิธีกรรม ผู้สอนงานช่าง และเป็นแหล่งอ้างอิงสนับสนุนในการจัดงานวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน กลองก้นยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีขนาดหลากหลาย กลองใบที่สูงที่สุดมีขนาด 96.5 นิ้ว จากการเก็บข้อมูลสัดส่วนกลองก้นยาวทั้งหมด 96 ใบ จาก 32 หมู่บ้านไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถจัดแบ่งขนาดกลองได้เป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่มีพบมากที่สุดคือกลุ่มกลองขนาด 50-59 นิ้ว มีจำนวน 50 ใบ สัญลักษณ์และความหมายที่พบในกลองก้นยาวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท กลุ่มแรกสะท้อนมโนทัศน์ของภูมิปัญญาผู้สูงอายุที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ระบบความหมายกลุ่มที่ 2 สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของชาวไทใหญ่รุ่นใหม่ที่ได้รักบารถ่ายทอดให้ปรากฏเป็นรูปธรรมเชิงสัญลักษณ์บนกลองก้นยาว