Abstract:
การวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสองส่วน ส่วนที่ 1 เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ โดยศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรู้คิดและพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดและการคงอยู่ของความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามจำนวน 300 คน ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบมาตรวัดแบบรายงานตนเองจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ ความคิดความเชื่อทางลบที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ การประเมินทางลบที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ และพฤติกรรมหลีกเลี่ยงคณิตศาสตร์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง พบว่า โมเดลความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ปัจจัยทางความคิดและพฤติกรรมสามารถอธิบายความแปรปรวนในตัวแปรความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ในนักเรียนได้ร้อยละ 84.50 ส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมในการลดความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในวัยรุ่นตอนต้นที่มีความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามที่มีคะแนนความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์สูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 73 ของกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยส่วนที่ 1 จำนวน 48 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลอง 24 คน และกลุ่มควบคุม 24 คน โดยกลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมจำนวน 6 ครั้ง ๆ ละ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผู้เข้าร่วมการวิจัยตอบมาตรวัดก่อนและหลังการทดลองในมาตรวัดความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ ความคิดความเชื่อทางลบที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ การประเมินทางลบที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ และพฤติกรรมหลีกเลี่ยงคณิตศาสตร์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนตัวแปรพหุนาม พบว่า ภายหลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองมีคะแนนความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ และคะแนนของตัวแปรที่ศึกษาส่วนใหญ่ลดลงและแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ