Abstract:
ปัจจุบันเทคนิคการตรวจรักษาระดับโมเลกุลโดยการตรวจหาโมเลกุลบ่งชี้ทางชีววิทยา (biomarker) ของเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยแอนติบอดีได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัย มะเร็งปากมดลูกเพื่อใช้ในการตรวจยืนยันการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะในการตรวจหาเซลล์มีความผิดปกติในระยะเริ่มต้นซึ่งการพัฒนาเทคนิคนี้มีข้อจำกัดที่สำคัญที่ต้องอาศัยกระบวนการผลิตแอนติบอดีที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ผลผลิตควบคุมได้ยาก และราคาต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ไม่สามารถนำเทคนิคดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในงานตรวจรักษาได้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องขนาดของโมเลกุลที่ใหญ่รวมถึงความสามารถในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้โมเลกุลแอนติบอดีไม่ได้รับความนิยมสำหรับประยุกต์ใช้ในการขนส่งโมเลกุลนำสัญญาณสำหรับการตรวจวินิจฉัยหรือขนส่งยาในร่างกายมนุษย์ โครงการนี้จึงทำการพัฒนาเปปไทด์จับจำเพาะต่อรอยโรคมะเร็งปากมดลูกขึ้น โดยใช้ฟาจดิสเพลย์ไลบรารี่ในการสแกนหาเปปไทด์จับจำเพาะต่อโมเลกุลบ่งชี้ทางชีววิทยาของมะเร็งปากมดลูกทูเมอร์สับเพรสเซอร์โปรตีนพีซิกซ์ทีนและโทโพรไอโซเมอร์ทูแอลฟ่า ผลคัดเลือกได้เปปไทด์ที่เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบลำดับเปปไทด์ในฐานข้อมูลพบว่าเปปไทด์ที่ได้ทั้งหมดเป็นเปปไทด์ที่พบค้นพบใหม่และไม่ใช่เปปไทด์ที่เกิดจากความผิดพลาดของกระบวนคัดเลือกพื้นฐานที่มักพบได้ในงานสแกนหาเปปไทด์จับจำเพาะ เมื่อผ่านการทดสอบเปรียบเทียบความสามารถในจับกับโปรตีนเป้าหมายของอนุภาคฟาจแสดงเปปไทด์ที่ได้ทั้งหมดด้วยเทคนิคอีไลซ่าและอิมมูโนฟลูออเรสเซ็นต์ ผลการทดสอบพบว่าเปปไทด์ SHSLLHH สำหรับทูเมอร์สับเพรสเซอร์โปรตีนพีซิกซ์ทีน และเปปไทด์ NERALTL สำหรับโทโพรไอโซเมอร์ทูแอลฟ่า โดยให้ผลความต่างของสัญญาณในเซลล์มะเร็งปากมดลูกมากกว่าเซลล์ไฟโบรบลาสปกติมากกว่าความต่างของสัญญาณที่ได้การย้อมเซลล์ชนิดเดียวกันด้วยอนุภาคฟาจควบคุม 16 และ 21 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการนำอนุภาคฟาจจับจำเพาะไปใช้ในการตรวจหารอยโรคมะเร็งปากมดลูกในเบื้องต้นกับตัวอย่างชิ้นเนื้อโดยใช้อนุภาคฟาจจับจำเพาะต่อโปรจีนทูเมอร์สับเพรสเซอร์โปรตีนพีซิกซ์ทีนเป็นต้นแบบเปรียบเทียบกับการใช้แอนติบอดีมาตรฐาน ซึ่งผลปรากฎว่าอนุภาคฟาจสามารถซึมผ่านเข้าเซลล์ได้เมื่อละลายเซลล์ในสารละลายไททรอนเอ็กซ์ตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไปและผลการย้อมตัวอย่างชิ้นเนื้อด้วยอนุภาคฟาจให้ผลสอดคล้องกับการย้อมชิ้นเนื้อด้วยแอนติบอดี และเมื่อใช้เปปไทด์สังเคราะห์สามารถให้สัญญาณตรวจแยกเซลล์มะเร็งได้โดยการย้อมเซลล์สดที่ไม่ผ่านกระบวนการเตรียมใด ๆ โดยใช้เวลาการย้อมตลอดกระบวนการเพียง 5 นาที ซึ่งแสดงถึงโอกาสในการพัฒนาผลผลิตจากโครงการวิจัยไปใช้พัฒนาเทคนิคการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก