Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของ Lactobacillus salivarius ต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโต อัตราการท้องเสีย ปริมาณแบคทีเรียในอุจจาระและลำไส้ สัณฐานวิทยาของลำไส้ และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในลูกสุกรดูดนมที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อ Escherichia coli F4 โดยทำการศึกษาในลูกสุกรดูดนมอายุ 1 วัน จำนวน 18 ครอก ทำการสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (กลุ่มควบคุม) จำนวน 10 ครอก และกลุ่มที่ 2 (กลุ่มทดลอง) จำนวน 8 ครอก ลูกสุกรในกลุ่มทดลองจะได้รับการป้อน L. salivarius ความเข้มข้น 109 cfu/ml ปริมาตร 5 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 วัน ติดต่อกัน วันที่ 24 ของการทดลอง ทำการสุ่มลูกสุกร (กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง) ครอกละ 1 ตัว เพื่อป้อนเชื้อ E. coli F4 ปริมาตร 5 มิลลิลิตร ความเข้มข้น 108 cfu/ml และในวันที่ 29 ของการทดลอง ทำการการุณยฆาตลูกสุกรที่ป้อนเชื้อ E. coli F4 เก็บตัวอย่างของเหลวในลำไส้และเนื้อเยื่อลำไส้เพื่อวัดค่าทางสัณฐานวิทยา และพารามิเตอร์อื่นๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพการเจริญเติบโต อัตราการท้องเสีย ปริมาณของแบคทีเรียในอุจจาระและลำไส้ ค่า pH ของของเหลวในลำไส้ และวิเคราะห์ปริมาณความเข้มข้นของอิมมูโนโกลบูลินเอในเยื่อเมือกของลำไส้
ผลการศึกษา พบว่า ลูกสุกรในกลุ่มที่ได้รับ L. salivarius มีอัตราการเจริญเติบโต น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อัตราการท้องเสียพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน (p>0.05) แต่มีแนวโน้มที่จะมีคะแนนการท้องเสียลดลงในช่วงวันที่ 25-29 ของการทดลอง (p=0.065) ปริมาณแบคทีเรียในอุจจาระพบว่าในวันที่ 10 ของการทดลองกลุ่มที่ได้รับ L. salivarius มีปริมาณของแลคโตบาซิลัสทั้งหมดในอุจจาระสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.01) มีแนวโน้มที่จะมีอัตราส่วนของปริมาณเชื้อแลคโตบาซิลัสต่อปริมาณแบคทีเรียทั้งหมด และแนวโน้มที่จะมีอัตราส่วนของปริมาณเชื้อแลคโตบาซิลัสต่อปริมาณของเชื้อโคลิฟอร์มทั้งหมดในอุจจาระสูงขึ้นเช่นกัน ในส่วนของเหลวในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม เจจูนัมส่วนต้น เจจูนัมส่วนท้าย และอิเลียม มีปริมาณแบคทีเรียทั้งหมดเพิ่มขึ้น (p<0.05) แต่ปริมาณของเชื้อโคลิฟอร์มทั้งหมดและปริมาณเชื้อแลคโตบาซิลัสทั้งหมดไม่แตกต่างกัน (p>0.05) ผลทางสัณฐานวิทยาของลำไส้ พบว่าความสูงของวิลไลในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม เจจูนัมส่วนต้น และเจจูนัมส่วนท้าย และอัตราส่วนของความสูงของวิลไลต่อความลึกของคริปท์ในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัมของกลุ่มที่ได้รับ L. salivarius เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนค่า pH ของของเหลวในลำไส้ พบว่า ค่า pH ในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัมมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น (p<0.05) แต่ไม่แตกต่างกันในลำไส้เล็กส่วนอื่นๆ และความเข้มข้นของอิมมูโนโกลบูลินเอในเยื่อเมือกของลำไส้ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทั้งสองกลุ่มทดลอง (p>0.05) ผลการทดลองสรุปได้ว่า การเสริม L. salivarius สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการเจริญเติบโต มีแนวโน้มในการลดความรุนแรงของการท้องเสีย มีปริมาณของแบคทีเรียแลคโตบาซิลัสในอุจจาระเพิ่มขึ้น มีปริมาณแบคทีเรียทั้งหมดในลำไส้เพิ่มขึ้น และสามารถปรับปรุงสัณฐานวิทยาของลำไส้ได้