Abstract:
การคัดทิ้งแม่สุกรและสุกรสาวในฟาร์มโดยส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สาเหตุของปัญหานี้ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางในมดลูกและรังไข่ แต่ศึกษากันน้อยมากในท่อน้ำไข่วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ ต้องการทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาที่เกิดขึ้นภายในท่อนำไข่ของสุกรสาวทดแทนที่ถูกคัดทิ้งออกจากฝูงจำนวน 30 ตัว เปรียบเทียบกับแม่สุกรปกติจำนวน 12 ตัว เจาะเลือดและเก็บอวัยวะสืบพันธุ์หลังจากสุกรถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์ ตรวจลักษณะทางพยาธิสภาพและเก็บท่อนำไข่ทั้งสองข้างโดยแบ่งเป็นรอยต่อของปีกมดลูกและท่อนำไข่ (UTJ) อิสมัส แอมพูลล่าเพื่อนำไปศึกษาทางเนื้อเยื่อวิทยาและจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบส่องกราด ซึ่งสุกรสาวทดแทนที่ใช้ในการศึกษานี้มีปัญหาผสมไม่ติด 9 ตัว และปัญหาไม่เป็นสัด 21 ตัว ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะทางพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ (64%) พบในสุกรกลุ่มที่ผสมไม่ติด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือถุงน้ำข้างรังไข่และภาวะน้ำขังภายในท่อนำไข่ ร่วมกับความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ ระดับของเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนซึ่งตรวจด้วยวิธี Chemiluminescent Microparticle immunoassay (CMIA) ของสุกรสาวส่วนใหญ่สอดคล้องกับลักษณะการปรากฏของรังไข่ในระยะฟอลลิคูล่าและระยะลูเทียล รวมทั้งการปรากฏของรังไข่ที่มีสภาพคล้ายกับรังไข่ของสุกรในช่วงอายุก่อนการเจริญพันธุ์ เมื่อศึกษาลักษณะของเยื่อบุท่อนำไข่ด้วยกล้องจุลทรรศน์แสงสว่างหลังการย้อมด้วย H&E พบลักษณะเซลล์คัดหลั่งและเซลล์ที่มีซีเลียของเยื่อบุท่อมีความคล้ายคลึงกับสุกรกลุ่มปกติ แต่สุกรสาวจำนวน 7 ตัวพบความผิดปกติเสียหายเช่น การลอกหลุดของเยื่อบุ การขยายของหลอดเลือด การเกิดถุงน้ำในเยื่อบุและชั้นใต้เยื่อบุได้อย่างชัดเจน ส่วนการปรากฏของ nucleated และ cytoplasmic protrusions บนผิวเยื่อบุ การสะสมของเซลล์เม็ดเลือดขาวในเยื่อบุและการย้อมด้วย PAS ในการศึกษานี้ พบความแปรปรวนที่เกิดขึ้นและไม่พบความแตกต่างในสุกรกลุ่มที่มีปัญหาและกลุ่มปกติ ขณะที่ความสูงของเซลล์เยื่อบุใน UTJ และแอมพูลล่าของสุกรกลุ่มที่มีปัญหาความแตกต่าง (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับสุกรกลุ่มปกติ เมื่อศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบส่องกราด พบว่า เยื่อบุท่อนำไข่ทุกส่วนของสุกรสาวทดแทนที่มีปัญหาไม่เป็นสัดและผสมไม่ติดโดยส่วนใหญ่ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเยื่อบุท่อนำไข่ของสุกรปกติอย่างชัดเจน สรุปได้ว่าพารามิเตอร์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจความผิดปกติของท่อนำไข่สุกรสาว คือความสูงของเยื่อบุเซลล์ รวมทั้งลักษณะพยาธิสภาพทั่วไปภายใต้กล้องจุลทรรศน์แสงแสว่างและกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบส่องกราด ผลการศึกษาบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุท่อนำไข่ที่สามารถพบได้ในสุกรสาวทดแทนที่ถูกคัดทิ้งจากฟาร์มสุกรบางแห่งของประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาผสมไม่ติดและไม่เป็นสัดโดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลทำให้ท่อนำไข่ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์