Abstract:
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีความสำคัญในเมืองไทยและทั่วโลก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมายจนอาจเสียชีวิตได้ จากการศึกษาฤทธิ์ของใบเตยหอม (Pandanus amaryllifolius Roxb.) ต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธี Standard Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีและระดับน้ำตาลในเลือดปกติจำนวน 30 ราย เปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือด ในกลุ่มที่ไม่ดื่ม (control) และดื่มชาเตยหอม (test) ปริมาณ 30 มิลลิกรัม ในน้ำ 300 มิลลิลิตร พบว่าระดับน้ำตาลเฉลี่ยสูงสุดในกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง คือ 125 ±17.66 และ 111 ± 14.16 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ตามลำดับ ซึ่งมีระดับลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เพื่อศึกษากลไกในการลดน้ำตาลในเลือด ได้นำใบเตยหอมมาสกัดสาร 4 รูปแบบด้วยกันคือ ใบเตยหอมสดที่สกัดด้วยน้ำกลั่นที่ 90 องศาเซลเซียส (method 1) ใบเตยหอมสดที่สกัดด้วยน้ำกลั่นที่ 25 องศาเซลเซียส (method 2) ใบเตยหอมแห้งที่สกัดด้วยน้ำกลั่นที่ 90 องศาเซลเซียส (method 3) ใบเตยหอมแห้งที่สกัดด้วยเอทานอล (method 4) ได้พบว่า สารสกัดใบเตยหอมทั้ง 4 รูปแบบมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase โดยพบว่าสารสกัดใบเตยหอม method 3 และ 4 มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้นในรูปแบบ dose dependent โดยมีค่าแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) และสารสกัด method 2 มีแนวโน้มในการกระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ นอกจากนี้ยังศึกษาผลของสารฟินอลิกและฟลาโวนอยด์โดยสารที่สกัดด้วยวิธีแตกต่างกันจะให้สารทั้งสองที่แตกต่างกันโดยตัวทำละลายเอทานอลให้สารฟินอลิกและฟลาโวนอยด์สูงสุด และเมื่อศึกษาความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของตัวทำละลายต่างๆกันพบว่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระแปรผันตามสารฟินอลิกที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการนำเตยหอมไปใช้เป็นยารักษาโรคต่อไป