Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ มุ่งเน้นการศึกษาบริบทของการแสดงหนังตะลุงในจังหวัดระยอง บริบทของหนังตะลุง คณะ ส.ศิษย์กระบกขึ้นผึ้ง และการวิเคราะห์ดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุงคณะ ส.ศิษย์กระบกขึ้นผึ้ง ด้วยมูลเหตุที่ว่าการแสดงหนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ หากแต่ได้มีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมมาสู่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ณ จังหวัดระยอง จึงเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับการศึกษาค้นคว้าเก็บข้อมูล เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ทางศิลปวัฒนธรรม และที่สำคัญ คือ วงการดนตรีไทย ผลการศึกษาบริบทของการแสดงหนังตะลุงในจังหวัดระยอง และบริบทของหนังตะลุงคณะ ส.ศิษย์กระบกขึ้นผึ้ง พบว่าหนังตะลุงคณะ ส.ศิษย์กระบกขึ้นผึ้งเป็นหนังตะลุงคณะแรกของจังหวัดระยอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหนังตะลุงทางภาคใต้ โดยย่าแดง ชาวระยองก็นำรูปแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ให้มีเอกลักษณ์เหมาะสมกับสภาพทางสังคมของชาวระยอง ได้อย่างสนิทสนมในมิติต่างๆ ทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งหมด ๖ ประการ คือ ลวดลายบนตัวหนังตะลุง การขับบท หน้าทับเฉพาะ พิธีกรรม วรรณกรรม และภาษา หนังตะลุงคณะนี้จึงมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง การถ่ายทอดไปยังบุคคลในท้องถิ่นกันอย่างแพร่หลาย และได้รับการสืบทอดมาจนกระทั่งนับปัจจุบัน ผลการวิเคราะห์ดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุงคณะ ส.ศิษย์กระบกขึ้นผึ้ง พบว่าเครื่องดนตรีประกอบการแสดงดังกล่าว มีเฉพาะเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เครื่องดนตรีถูกสร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความเรียบง่ายและสามารถตอบสนองความบันเทิงไปในแบบของชาวระยองได้อย่างชัดเจนหนังตะลุงระยองจึงเป็นการบรรเลงเครื่องดนตรีประกอบจังหวะประกอบจังหวะให้กับการขับร้องของนายหนังตะลุง เพลงที่ใช้ในการขับร้องเป็นเพลงประเภทเพลงลูกทุ่งและเพลงพื้นบ้านการบรรเลงดนตรีจะมีรูปแบบที่ผสมผสานระหว่าง ๒ ภูมิภาค การบรรเลงดนตรีจะเป็นไปในวิถีของระยองจากการวิเคราะห์ท่วงทำนองการขับปรายหน้าบทแล้วพบว่าเป็นการขับบทกลอนที่มีการกำหนดเสียงหลักให้อยู่ในเสียงโด เร มี ซอล การบังคับเสียงดังกล่าวจึงบังเกิดเป็นเสน่ห์ของสำเนียงภาษาที่สามารถบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวระยองได้เป็นอย่างดี