Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1)เพื่อวิเคราะห์และจัดระบบการจำแนกสาขาวิชาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย 2)เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้เชี่ยวชาญตามระบบการจำแนกสาขาวิชาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย และ 3)เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศคลังสมองด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย ประชากร คือ คณบดีของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 71 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสำรวจข้อมูลคณาจารย์ แบบสำรวจความเชี่ยวชาญของบุคลากร และระบบสารสนเทศคลังสมองด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย ผลการวิจัย พบว่า 1.ผลการวิเคราะห์และจัดระบบการจำแนกสาขาวิชาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย สาขาวิชา/โปรแกรมของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ประกอบด้วย 14 สาขาวิชา ระดับปริญญาบัณฑิต ประกอบด้วย 64 สาขาวิชา ระดับมหาบัณฑิต ประกอบด้วย 71 สาขาวิชา ระดับดุษฏีบัณฑิต ประกอบด้วย 25 สาขาวิชา 2.ผลการรวบรวมข้อมูลผู้เชี่ยวชาญตามระบบการจำแนกสาขาวิชาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย อาจารย์ประจำมีสถานภาพเป็นข้าราชการมากที่สุด จำนวน 764 คน รองลงมาคือ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้าง และพนักงานข้าราชการ จำนวน 237, 95 และ 29 คน ตามลำดับ ส่วนอาจารย์พิเศษมีจำนวน 98 คน เมื่อพิจารณาคุณวุฒิทางการศึกษา พบว่า สำเร็จการศึกษาในระดับมหาบัณฑิตมากที่สุด จำนวน 1,905 คน รองลงมาคือ สำเร็จการศึกษาในระดับดุษฏีบัณฑิต และระดับปริญญาบัณฑิต จำนวน 879 คน และ 342 คน ตามลำดับ เมื่อพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ พบว่า ดำรงตำแหน่งอาจารย์มากที่สุด จำนวน 1,361 คน รองลงมาคือ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ จำนวน 796, 387 และ 11 คน ตามลำดับ 3.ผลการพัฒนาระบบสารสนเทศคลังสมองด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย ผู้วิจัยพัฒนาระบบที่เว็บไซต์ http://portal.edu.chula.ac.th/pub/edu_expert ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล ความเชี่ยวชาญทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และผลงานวิชาการ