Abstract:
จังหวัดสมุทรสาครมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและแหล่งประมง ส่งผลให้มี โรงงานอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เกิดแรงงานที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานจึงมี ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพการอยู่อาศัยของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและประมง ขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร โดยศึกษาสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงาน ลักษณะทางกายภาพและสภาพการอยู่อาศัย ของแรงงาน ศึกษาปัญหาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยศึกษาแรงงานที่ทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ 3 แห่ง ในเทศบาลนครสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานรวมกันทั้งหมดประมาณ 3,997 คน โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ จำนวน 400 ตัวอย่าง จากการศึกษาพบว่าแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและประมงขนาดใหญ่ในเทศบาลนครสมุทรสาครมี สัดส่วน เป็นแรงงานไทย ร้อยละ 60 และเป็นแรงงานข้ามชาติ ร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 57.8) อยู่ในช่วง อายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 59.0) เป็นแรงงานไม่จดทะเบียน (ร้อยละ 52.0) มีระดับการศึกษาประถมศึกษา (ร้อยละ 35.8) มีสถานภาพสมรสแล้ว (ร้อยละ 74.3) มีบุตร 1-2 คน (ร้อยละ 48.5) มีสมาชิกในที่พักอาศัย 3-4 คน (ร้อยละ 34.0) มีระดับรายได้ครัวเรือนอยู่ในช่วง 5,000-10,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 52.0) ซึ่งร้อยละ 38.9 มีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายและสามารถเก็บออมได้ แรงงานไทยส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับ เพื่อนบ้านมาก (ร้อยละ 56.3) และจะเข้าร่วมกิจกรรม (ร้อยละ 64.6) ในขณะที่แรงงานข้ามชาติ จะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านน้อย (ร้อยละ 55.0) และไม่เข้าร่วมกิจกรรม (ร้อยละ 79.4) ที่อยู่อาศัยของแรงงานไทยส่วนใหญ่ เป็นการเช่าที่ปลูกบ้าน (ร้อยละ 44.2) โดยเสียค่าเช่าที่ดินประมาณ 2,000-3,000 บาท/ปี ในขณะที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยโดยการเช่าหอพัก/อพาร์ทเม้นต์ (ร้อยละ 31.9) ค่าเช่าห้องประมาณ 2,000-3,000 บาท/เดือน สภาพที่อยู่อาศัยปัจจุบันของแรงงานทั้งสองประเภทอยู่ในสภาพพอใช้ (ร้อยละ 54.5) ส่วนใหญ่เป็นอาคาร1-2 ชั้น (ร้อยละ 91.5) ก่อสร้างด้วย อิฐ/คอนกรีต (ร้อยละ 65.5) ส่วนใหญ่มีขนาดแปลงที่ดินน้อยกว่า 10 ตร.วา (ร้อยละ 38.6) และมีขนาดห้องที่อยู่อาศัยเพียง 3-10 ตร.ม (ร้อยละ 39.7) ที่มี 1 ห้องอเนกประสงค์ ใช้พักผ่อน/หลับนอน (ร้อยละ 57.5) และใช้ห้องน้ำร่วมกัน (ร้อยละ 65.0) ปัญหาที่อยู่อาศัยของแรงงานทั้งสอง กลุ่มคือ ปัญหาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่เสื่อมโทรม โดยมีทั้งปัญหา น้ำขัง น้ำเน่าเสีย และขยะ (ร้อยละ 78) ปัญหาที่อยู่อาศัยมีสภาพ ไม่มั่นคงแข็งแรงและ มีสภาพทรุดโทรมมาก (ร้อยละ 69.5) ปัญหาที่ต่างกันคือ แรงงานไทยจะมีปัญหาการเงินสำหรับที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 30.8) คือ ค่าเช่าสูงเกินกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติ มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด (ร้อยละ 34.9) ปัญหาความปลอดภัยนี้ ก็เป็นปัญหาของแรงงานไทยเช่นกัน ผลการศึกษา สรุปได้ว่าการมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและประมงขนาดใหญ่เข้าไปตั้งกิจการในพื้นที่ได้ส่งผลต่อการ เปลี่ยนแปลงของเมืองเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดที่อยู่อาศัยของแรงงานที่มักมีที่มีสภาพเสื่อมโทรม มีปัญหาความปลอดภัย ปัญหาคุณภาพชีวิต และสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย ดังนั้นหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควรมีส่วนเกี่ยวข้องใน การรับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน และควรต้องมีการวางแผนด้านที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานควบคู่กับเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีส่วนในการจัดให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานของตน