Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคำบอกทิศทาง “LI” “NEI” “ZHONG” ในภาษาจีนกลางกับคำภาษาไทยที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งในด้านลักษณะทางวากยสัมพันธ์และความหมาย โดยใช้ทฤษฎีอรรถศาสตร์ปริชานมาวิเคราะห์และอธิบายความหมาย ผลการศึกษาพบว่าในด้านลักษณะทางวากยสัมพันธ์ คำบอกทิศทาง “LI” “NEI” “ZHONG” กับคำบุพบท “ใน” “ข้างใน” “ภายใน” ต้องประกอบร่วมกับคำหรือวลีอื่น ๆ โดยมีลักษณะการประกอบร่วมที่เหมือนกัน 3 ประเภท คือ เมื่อประกอบกับ “คำนาม (สามานยนาม)” “คำบอกสถานที่” “นามวลี (สามานยนามเป็นความหมายหลัก)” และแตกต่างกัน 9 ประเภท คือ เมื่อประกอบกับ “คำนาม (วิสามานยนาม อาการนาม)” “คำบอกเวลา” “คำกริยา และกริยาวลี” “คำคุณศัพท์” “คำสรรพนาม” “คำบุพบท” “คำวิเศษณ์” “นามวลี (วิสามานยนาม หรืออาการนามเป็นความหมายหลัก)” และ “วิเศษณ์วลี” ในด้านความหมายพบว่าคำบอกทิศทาง “LI” “NEI” “ZHONG” กับคำบุพบท “ใน” “ข้างใน” และ “ภายใน” มีความหมายเหมือนกัน 2 ความหมาย คือ เมื่อบ่งถึง “ตำแหน่งภายใน ของพื้นที่ 3 มิติ (สิ่งก่อสร้าง สิ่งของ หรืออวัยวะร่างกาย)” และ “ตำแหน่งภายในของพื้นที่มโนทัศน์ 3 มิติ” และมีความหมายที่แตกต่างกัน 16 ความหมาย คือ เมื่อบ่งถึง “ตำแหน่งภายในของพื้นที่ 3 มิติ (ทรัพยากรธรรมชาติ และอาหาร)” “ตำแหน่งภายในของพื้นที่ 2 มิติ” “ตำแหน่งภายในของพื้นที่ 1 มิติ” “ตำแหน่งภายในของพื้นที่ไร้มิติ” “ภายในขอบเขตทางสังคม” “ภายในขอบเขตของเวลา” “ภายในขอบเขตของความหมายเปรียบเปรย” “ภายในขอบเขตของจำนวนพหูพจน์” “ภายในแหล่งที่มาของข่าวสาร ความรู้” “ภายในสภาพหรือลักษณะ” “ภายในกระบวนการของการกระทำ” “หน่วยงาน องค์กร หรือสมาชิกที่อยู่ในหน่วยงาน องค์กร” “เครื่องแต่งกายที่สวมใส่” “การเป็นเจ้าของ” “วัยหรือช่วงอายุ” และ “บ่งผู้เสริม”