Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาเรื่องกฎหมายมรดกในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ 4 ฉบับ ได้แก่ เคาตมธรรมสูตร มนุสมฤติ ยาชญวัลกยสมฤติ และนารทสมฤติ และเปรียบเทียบกับพระอัยการลักษณะมรดกในกฎหมายตราสามดวงเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ ช่วงเวลาในการแบ่งมรดก ทรัพย์สินที่ตกทอดได้ ผู้มีสิทธิ์รับมรดก ผู้หมดสิทธิ์รับมรดก และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งมรดก ผลการศึกษาพบว่า กฎหมายมรดกทั้งในคัมภีร์ธรรมศาสตร์และกฎหมายตราสามดวงมีประเด็นหลักคล้ายคลึงกันแต่มีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แนวคิดเรื่องความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์มรดกส่งผลให้การแบ่งมรดกตามคัมภีร์ธรรมศาสตร์สามารถกระทำได้ในขณะที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่เนื่องจากถือว่าเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของทายาท ในขณะที่ตามกฎหมาย ตราสามดวงสิทธิ์เหนือกองมรดกเป็นของเจ้ามรดก การแบ่งมรดกจึงต้องทำเมื่อเจ้าของ ทรัพย์มรดกเสียชีวิตไปแล้ว ในด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อส่วนแบ่งมรดกนั้น คัมภีร์ธรรมศาสตร์จะเน้นไปที่ เพศและวรรณะของทายาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานภาพในสังคมโดยตรง ส่วนกฎหมายตราสามดวงเน้นความกตัญญูเป็นสำคัญ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อส่วนแบ่งมรดกตามกฎหมายตราสามดวงจึงเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาลและช่วยปลงศพผู้ตาย ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานะในครอบครัวขยายหรือการทำงานเป็นปัจจัยรองลงมา ความแตกต่างอย่างยิ่งในรายละเอียดของกฎหมายมรดกในคัมภีร์ธรรมศาสตร์กับกฎหมายตราสามดวงจึงทำให้ไม่อาจสรุปได้ว่ากฎหมายตราสามดวงได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของอินเดีย