Abstract:
งานวิจัยนี้วิเคราะห์ระบบสระภาษามอญในปัจจุบันและลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของสระในภาษามอญไทย 4 วิธภาษาได้แก่ บ้านเกาะ (TM1) บ้านม่วง (TM2) บ้านบางขันหมาก (TM3) บ้านหนองดู่ (TM4) และภาษามอญพม่า 4 วิธภาษา ได้แก่ บ้านโมกกะเนียง (BM1) บ้านตันจะนุห์ (BM2) บ้านสะปุอ์ (BM3) บ้านเกาะบิน (BM4) เพื่อพิสูจน์ว่าระบบสระและลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของสระในภาษามอญไทยและภาษามอญพม่าแตกต่างกัน และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาษาต่างแบบ สำหรับการวิเคราะห์ระบบสระ สัมภาษณ์ผู้บอกภาษาวิธภาษาละ 1 คน ด้วยรายการคำ 3 ชุด คือ 1) รายการคำศัพท์พื้นฐาน 500 คำ 2) รายการคำที่เลือกจาก Shorto (1962) และ Diffloth (1984) 300 คำ และ 3) รายการคำตรวจสอบ 112 คำ ของ Bauer (ไม่ได้ตีพิมพ์) เก็บข้อมูลจากผู้บอกภาษามอญไทย 4 วิธภาษา และภาษามอญพม่า 4 วิธภาษา ส่วนการวิเคราะห์ทางกลสัทศาสตร์ เก็บข้อมูลโดยบันทึกเสียงผู้บอกภาษาวิธภาษาละ 3 คน ใช้จำนวนคำตัวอย่าง 100-109 คำ ผู้บอกภาษาออกเสียงคำละ 3 ครั้ง รวมคำที่นำมาทดสอบทั้งหมด 7,515 คำ. ค่าทางกลสัทศาสตร์ที่วิเคราะห์ ได้แก่ ค่าแอ็มปลิจูดเชิงเปรียบเทียบของ H1-H2 H1-H3, H2-H4, H1-A1, H1-A2, H1-A3 ค่าระยะเวลา ค่าความถี่มูลฐาน และค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่ 1 และที่ 2 ใช้โปรแกรมพราทเวอร์ชั่น 5.2.27 และทดสอบความแตกต่างของค่าทางกลสัทศาสตร์ด้วย t-Test ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการวิเคราะห์เป็นไป ตามสมมติฐานบางส่วนดังนี้ ระบบสระของวิธภาษากลุ่มมอญไทยและวิธภาษากลุ่มมอญพม่าแตกต่างกันซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน แต่เมื่อพิจารณาระบบสระภายในวิธภาษากลุ่มมอญไทย 4 วิธภาษา และภายในวิธภาษากลุ่มมอญพม่า 4 วิธภาษา พบว่า ภายใน 2 กลุ่มวิธภาษามีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ค่าแอ็มปลิจูดเชิงเปรียบเทียบ (โดยเฉพาะค่า H1-A1) แสดงความต่างระหว่างสระก้องธรรมดาและสระก้องต่ำทุ้มทั้ง ในภาษามอญไทยและภาษามอญพม่าตามสมมติฐาน แต่ค่าระยะเวลาไม่สามารถแยกสระก้องธรรมดาจากสระก้องต่ำทุ้มได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ส่วนค่าความถี่มูลฐานจำแนกสระก้องธรรมดาจากสระก้องต่ำทุ้มได้ทั้งในภาษามอญไทยและภาษามอญพม่า และ ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ระหว่างสระก้องธรรมดาและสระก้องต่ำทุ้มไม่ต่างกันทั้งในภาษามอญไทยและภาษามอญพม่า ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่า H1-A1 และค่าความถี่มูลฐานสามารถแสดงความแตกต่างระหว่างสระก้องธรรมดาและสระก้องต่ำทุ้มได้ จึงสรุปได้ว่า คุณสมบัติน้ำเสียงและระดับเสียงเป็นองค์ประกอบเด่นที่ใช้ในการแยกลักษณะน้ำเสียง 2 ประเภท ทั้งในภาษามอญไทยและภาษามอญพม่า ซึ่งเป็นภาษาลักษณะน้ำเสียง ลักษณะทางกลสัทศาสตร์แสดงทิศทางว่า ถ้าเกิดภาษามีการเปลี่ยนแปลง ภาษามอญไทยและมอญพม่าอาจเป็นภาษาวรรณยุกต์ในอนาคต อย่างไรก็ดี ในภาษามอญพม่า มีการเลื่อนสระทั้งสระส่วนหน้าและสระส่วนหลังเป็นจำนวนมาก ขณะที่ลักษณะดังกล่าวปรากฏเป็นจำนวนน้อยในภาษามอญไทย ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้ภาษามอญพม่ามีสระประสมเพิ่มขึ้นในอนาคต ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของทั้งสองวิธภาษานี้อาจต่างกัน ขณะที่มอญไทยจะเปลี่ยนแปลงเป็นภาษาวรรณยุกต์เท่านั้น ภาษามอญพม่าอาจจะเปลี่ยนไปเป็นภาษาวรรณยุกต์หรือภาษาระบบสระซับซ้อนในอนาคต เมื่อความแตกต่างระหว่างคุณสมบัติน้ำเสียงสูญไป