Abstract:
การวิจัยแบบผสานวิธีเชิงสามเส้าแบบเกิดพร้อมกันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาอิทธิพลของความหมายในชีวิตต่อการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและการสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายของผู้พิการและญาติผู้ดูแล (2) ศึกษาประสบการณ์ด้านจิตใจเกี่ยวกับความหมายในชีวิตและการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและการสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายของผู้พิการและญาติผู้ดูแล กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงปริมาณ เป็นผู้พิการและญาติผู้ดูแล จำนวน 100 คู่ ในการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นผู้เป็นผู้พิการและญาติผู้ดูแล จำนวน 5 คู่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดความหมายในชีวิตในบริบทเจ็บป่วยพิการ มาตรวัดการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยพิการ และแนวคำถามสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการวิเคราะห์โมเดลรายคู่แบบไขว้ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพตามแนวการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ ผลการวิจัยเชิงปริมาณพบเฉพาะอิทธิพลตรงของผู้พิการและญาติผู้ดูแลที่แสดงถึงว่าผู้พิการที่มีความหมายในชีวิตสูงจะมีการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและภาวะสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายได้ดี ในทำนองเดียวกันญาติผู้ดูแลที่มีความหมายในชีวิตสูงก็จะมีการปรับตัวได้ดีด้วย แต่ไม่พบอิทธิพลไขว้ของผู้พิการและญาติผู้ดูแลและอิทธิพลร่วมของผู้พิการและญาติผู้ดูแล ส่วนผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้พิการและญาติผู้ดูแลที่ร่วมกันมี 3 ช่วงหลัก ดังนี้ ช่วงที่ 1 ความผันผวนของใจผู้พิการและมารดา ภายหลังประสบอุบัติเหตุปละรับรู้ว่ามีความพิการ ประสบการณ์ที่เกิดร่วมกันของผู้พิการและญาติผู้ดูแลคือ การเผชิญกับความไม่รู้และสงสัยกับความเจ็บป่วยพิการที่เกิดขึ้น ประสบการณ์เฉพาะของผู้พิการในระยะนี้ เป็นปฏิกิริยาต่อการสูญเสียและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เข้ามาพร้อมๆ กับความเจ็บป่วยพิการ เช่น การไม่ยอมรับความพิการ ความคาดหวังต่อผลการรักษา ด้วยการแสดงออกถึงความไม่เชื่อว่าตนเองจะพิการ การมีความคิดหมกมุ่นนึกถึงสิ่งที่ตนเองสูญเสียไป ความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง สำหรับมารดาผู้พิการเป็นการพยายามรวบรวมสติ ปรับเปลี่ยนกิจวัตรและความเคยชินต่างๆเพื่อเข้ามารับบทบาทในการเป็นผู้ดูแล ช่วงที่ 2 ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การยอมรับความพิการและเริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง โดยในส่วนผู้พิการมีตัวจุดชนวนให้เปลี่ยนจากสิ้นหวังเป็นสู้ คือ การมีเพื่อนผู้พิการเป็นตัวแบบ และความรักจากครอบครัว การรีเซ็ตชีวิตใหม่ และตัวช่วยหรือขัดขวางการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยพิการ สำหรับมารดาผู้พิการเป็นการคิดทบทวนถึงความพยายามในการหาทางรักษาลูก จนเริ่มยอมรับความพิการของลูก และคอยให้การสนับสนุนความคิด การตัดสินใจของลูก ให้อิสระแก่ลูกในการทำสิ่งที่อยากทำ ช่วงที่ 3 การเติบโต และมองเห็นคุณค่า ความหมายในชีวิตของผู้พิการและมารดา ช่วงนี้เป็นประสบการณ์ที่มีความชัดเจนในผู้พิการ ส่วนในญาติผู้ดูแลจะเป็นความโล่งใจ ความสบายใจที่ผู้พิการดูแลตนเองได้ และตามมาด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ฝ่าฝันความลำบากร่วมกันมา จนกระทั่งลูกสามารถพิสูจน์ว่าพึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม