Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเสรีภาพที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง และนวนิยายของมั่วเหยียนทั้งหมด 7 เรื่อง ได้แก่ ตำนานรักทุ่งสีเพลิง ลำนำกระเทียม อกโตสะโพกใหญ่ ป่าชายเลน ทัณฑ์ไม้จันทน์ ความเหนื่อยล้าแห่งชีวิตและความตาย และกบ และเพื่อศึกษาบริบททางสังคมและวัฒนธรรมจีนที่สัมพันธ์กับแนวคิดเสรีภาพในวรรณกรรมดังกล่าว
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ความย้อนแย้งของเสรีภาพเกิดขึ้นจากเสรีภาพที่มีความหลากหลายและเลื่อนไหลแตกต่างกันในแต่ละยุค กล่าวคือ นวนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง นำเสนอเสรีภาพของสังคมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาทิ เสรีภาพการประกอบอาชีพ เสรีภาพทางการศึกษา เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพการแต่งงาน เป็นต้น และอุดมการณ์ “เบญจสัมพันธ์” ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้า พ่อกับลูก สามีกับภรรยา พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน พันธนาการความสัมพันธ์นอกจากสร้างภาวะความย้อนแย้งของเสรีภาพแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเรียกร้องเสรีภาพ
ส่วนนวนิยายของมั่วเหยียนนำเสนอเสรีภาพในบริบทสังคมนิยมที่ตั้งอยู่บนรากฐานความเท่าเทียมตามกฎหมาย อาทิ เสรีภาพการประกอบอาชีพ เสรีภาพการแต่งงาน เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิความเท่าเทียม เป็นต้น แต่อิทธิพลของอุดมการณ์ “เบญจสัมพันธ์” และระบบทุนนิยมที่ยังคงฝั่งแน่นอยู่ในสังคม เป็นปัจจัยให้วิถีชีวิตของชาวจีนยังคงดำเนินไปตามครรลองแบบเก่า การไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปตามกรอบเสรีภาพและแสดงการต่อสู้และต่อรอง จึงนำมาซึ่งภาวะความย้อนแย้งของเสรีภาพ