Abstract:
คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมมลายู โดยเฉพาะในพื้นที่คาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตราอันได้รับแรงกระทบจากสงครามระหว่างรัฐในพื้นที่ดังกล่าวกับรัฐเพื่อนบ้านอย่างสงครามสยาม-ปาตานี (ค.ศ. 1785 - 1838) สงความปาเดรี (ค.ศ. 1812 - 1837)และสงครามซุงฆัล (ค.ศ. 1872 - 1895) การสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้าของชาวตะวันตกอย่างอังกฤษและดัตช์ ที่สั่นคลอนวิถีของศาสนาอิสลามและจริยธรรมของชาวมลายู ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้บรรดาอุลามะชาวมลายูเดินทางไปศึกษาศาสนาอิสลามยังโลกอาหรับ บ้างก็มุ่งศึกษาศาสนาอิสลามเพื่อจะกลับมาธำรงรักษาและปฏิรุปศาสนาอิสลามในโลกมลายูให้มีความใกล้เคียงกับศาสนาอิสลามในโลกอาหรับอันเป็นต้นทางของศาสนา
ภาวะความระส่ำระส่ายทางการเมืองดังกล่าวทำให้โครงสร้างของสังคมมลายูเริ่มปรับเปลี่ยน จากที่แต่เดิมสุลต่านเป็นผู้นำรัฐที่มีบทบาทในการเมืองโลกมลายู แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอุลามะกลับเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความตระหนักต่อการธำรงรักษาศาสนาอิสลามอันสืบเนื่องไปถึงการธำรงไว้ซึ่งความหวงแหนดินแดนของตน
การสร้างการรับรู้ "อดีต" เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความเป็นเอกภาพของศาสนาอิสลาม โดยอดีตดังกล่าวได้สอดแทรกในกิตาบมลายูซึ่งมีลักษณะที่เป็นสากล กล่าวคือ เป็นอดีตที่ปรากฏในอัลกุรอ่านและฮะดีษ และอดีตที่สัมพันธ์กับโลกอาหรับ อย่างไรก็ตามอุลามะยังได้สะท้อนสภาพของสังคมมลายูในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านกิตาบมลายูไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ