Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้กากชา ต่อประสิทธิภาพการใช้อาหาร การย่อยได้ปรากฏ การเปลี่ยนแปลงของเมทาโบไลท์ในเลือด และการผลิตก๊าซมีเทน ในอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะนมลูกผสม วางแผนการวิจัยแบบสลับ (3 x 3 crossover design) โดยใช้แพะนมลูกผสมพันธุ์ซาแนนจำนวน 9 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 30 ± 3.50 กิโลกรัม เป็นแม่แพะที่ผ่านการคลอดมาแล้ว (multiparous) และอยู่ในช่วงให้ผลผลิตน้ำนมหลังคลอด (lactation) การทดลองแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วง 14 วันแรกจะเป็นช่วงของการปรับตัว ช่วงที่เหลืออีก 7 วันจะเป็นช่วงของการเก็บตัวอย่างและข้อมูล แพะแต่ละตัวได้รับอาหารทั้งสามสูตรที่มีการเสริมกากชาลงในสัดส่วนที่ 0 5 และ 10 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในรูปของอาหารผสมเสร็จ (Total mixed ration; TMR) (กลุ่มที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ) มีการคำนวณระดับโปรตีนและพลังงานเท่ากันทุกสูตร (isonitrogenous and isocaloric diets) ทำการเก็บตัวอย่าง ได้แก่ อาหาร เลือด ปัสสาวะ มูล น้ำนม และของเหลวจากกระเพาะรูเมน เพื่อที่จะประเมินค่าพารามิเตอร์ที่สังเกตหลายชนิด ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติในกลุ่มทดลองของปริมาณการกินได้ ผลผลิตน้ำนม ค่าเมทาโบไลท์ในเลือด (กลูโคส ไตรกลีเซอไรด์ โปรตีนรวม) ค่าพีเอชในกระเพาะรูเมน กรดไขมันระเหย (volatile fatty acids; VFAs) ค่าอัลลานโทอิน (allantoin) ค่าสมดุลไนโตรเจนและผลผลิตก๊าซมีเทน ส่วนประกอบของโปรตีนในน้ำนมในกลุ่มที่ 3 มีความแตกต่างกันทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 1 และ 2 ค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งในกลุ่มที่ 3 สูงกว่าในกลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ 1 ส่วนกลุ่มที่ 2 มีค่าการย่อยได้ของสารอินทรีย์ โปรตีนและ NDF ต่ำที่สุดในทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ 3 มีค่าการย่อยได้ของ NDF และ ADF สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น
จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า สามารถใช้กากชาได้ถึงระดับ 10 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในสูตรอาหาร เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนในอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะนมลูกผสมผสมซาเนนได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อปริมาณการให้ผลผลิตและนิเวศวิทยาในกระเพาะรูเมน อย่างไรก็ตาม การเสริมกากชาที่ระดับ 5 และ 10 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในสูตรอาหารไม่ส่งผลต่อการผลิตก๊าซมีเทน