Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยหลังการเกิดโรคหลอดเลือดสมองระยะแรก ได้แก่ ระดับฮีโมโกลบิน ภาวะโภชนาการ อาการนอนไม่หลับ และกิจกรรมทางกาย กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองชนิดแตกและตีบตันครั้งแรก อายุระหว่าง 18-59 ปี มีระยะเวลาการเจ็บป่วยตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 1 ปี เพศชายและเพศหญิงที่มาเข้ารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรมประสาทและศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 100 ราย ที่ได้มาจากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและข้อมูลการเจ็บป่วย ภาวะโภชนาการ อาการนอนไม่หลับ กิจกรรรมทางกาย และความเหนื่อยล้า ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .86, .80, .86 และ .78 ตามลำดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงบรรยาย ค่าสหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล ค่าสัมประสิทธิ์ของเพียร์สัน และการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ร้อยละ 63 ของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหลังการเกิดโรคหลอดเลือดสมองระยะแรกมีความเหนื่อยล้า (Mean = 4.42, S.D. = 1.63)
2. ระดับฮีโมโกลบินและอาการนอนไม่หลับสามารถร่วมกันทำนายความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยหลังการเกิดโรคหลอดเลือดสมองระยะแรกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีอำนาจพยากรณ์ได้ร้อยละ 30 และสามารถสร้างสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐานได้ดังนี้
(Zความเหนื่อยล้า ) = -.42Z ระดับฮีโมโกลบิน + .21Z อาการนอนไม่หลับ