Abstract:
การศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบผลของการดื่มเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่งสูง นมวัว หรือเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา ต่อสมรรถภาพการเล่นกีฬาในนักฟุตบอลชายจำนวน 49 คน อายุ 16-18 ปี ของทีมโรงเรียนมัธยมในจังหวัดระยองจำนวน 4 ทีม ซึ่งการศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ single-blinded crossover trial โดยนักกีฬาจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา (140 กิโลแคลอรี่ ; คาร์โบไฮเดรต 34.0 กรัม ; ไขมัน 0.001 กรัม) 2) นมวัว (170 กิโลแคลอรี่ ; คาร์โบไฮเดรต 9.0 กรัม ; โปรตีน 10.0 กรัม โดยมี กรดอะมิโนโซ่กิ่ง 1.5 กรัม; ไขมัน 10.0 กรัม) และ 3) เครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่งสูง (170 กิโลแคลอรี่ ; คาร์โบไฮเดรต 25.9 กรัม; โปรตีน 10.8 กรัม โดยมีกรดอะมิโนโซ่กิ่ง 4.5 กรัม; ไขมัน 2.8 กรัมt) ในปริมาตร 250 มล. โดยนักกีฬาผู้เข้าร่วมจะได้รับเครื่องดื่มหลังสิ้นสุดการซ้อมทุกวันเป็นเวลา 10 วันสำหรับแต่ละกลุ่ม โดยจะมีช่วงพัก 1 สัปดาห์ก่อนจะเปลี่ยนกลุ่ม ก่อนที่จะได้รับเครื่องดื่มแต่ละชนิดนักกีฬาทุกคนจะต้องได้รับการประเมินปริมาณไขมันในร่างกาย ความอ่อนตัว ความทนทานของกล้ามเนื้อ กำลังกล้ามเนื้อ ความเร็ว และการบาดเจ็บ ในระหว่างที่ได้รับเครื่องดื่มนักกีฬาผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับแบบบันทึกการรับประทานอาหาร (3-day food record) อีกด้วย และจะประเมินอีกครั้งเมื่อครบระยะเวลาการศึกษาของแต่ละกลุ่มเครื่องดื่ม จากผลการศึกษาพบว่าปริมาณไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่ง 0.36±1.38% เมื่อเทียบกับกลุ่มนมวัว 0.15±0.85% ในขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬามีปริมาณไขมันใต้ผิวหนังลดลง 0.35±0.92% นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มนมวัวและกลุ่มเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่งสูงมีความมีความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น 0.88±2.00 ซม. และ 0.04±2.49 ซม. ตามลำดับ แต่ลดลงในกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา 0.14±1.98 ซม. ในการทดสอบความทนทานของกล้ามเนื้อโดยการวิดพื้นพบว่าในกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬาและกลุ่มเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่งสูงเพิ่มขึ้น 3.76±8.50 ครั้ง และ 0.33±9.10 ครั้ง ตามลำดับ แต่ลดลงในกลุ่มนมวัว 0.47±4.34 ครั้ง นอกจากนั้นเครื่องดื่มทั้งสามชนิดไม่มีผลต่อกำลังกล้ามเนื้อ (p > 0.05) การทดสอบความเร็วในนักกีฬาพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระยะ 5 ม. 10ม. และ 20 ม.ดังจะเห็นได้จากกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬามีความเร็วลดลงที่ระยะ 5 ม.0.13±0.26 วินาที ที่ระยะ 10 ม. 0.11±0.22 วินาที และที่ระยะ 20 ม. 0.15±0.23 วินาที เมื่อเทียบกับกลุ่มนมวัวที่ลดลงที่ระยะ 5 ม.0.02±0.11 วินาที ที่ระยะ 10 ม. 0.02±0.14 วินาที และที่ระยะ 20 ม.0.03±0.15วินาที (p<0.05) สำหรับการประเมินการบาดเจ็บพบว่าลดลงในกลุ่มนมวัวเมื่อเปรียบเทียบแบบก่อนและหลัง (p < 0.05) และไม่พบความแตกต่างในกลุ่มเครื่องดื่มที่กรดอะมิโนโซ่กิ่งสูงหรือกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา บริเวณที่พบการบาดเจ็บคือ สะโพก เข่า และข้อเท้าด้านซ้าย กล่าวโดยสรุปเครื่องดื่มทั้งสามชนิดมีผลต่อสมรรถภาพการเล่นกีฬาในนักฟุตบอลที่แตกต่างกันทั้งในด้านที่เพิ่มสมรรถภาพและลดสมรรถภาพการเล่นกีฬา