Abstract:
พลูคาวเป็นพืชพื้นถิ่นทางภาคเหนือของประเทศไทย มีฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย ได้แก่ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว คณะวิจัยจึงได้ทำการตรวจวัดปริมาณสารฟลาโว-นอยด์ที่พบในสารสกัดพลูคาวพบว่ามีปริมาณเท่ากับ 231.21 ± 4.19 mg QE/g dried H.cordata และได้ทำการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบสารสกัดพลูคาวด้วยเทคนิค HPLC-MS พบว่ามีสัดส่วนของ isoquercetin 1.10 ± 0.03, quercetin 0.34 ± 0.02, hyperin 6.35 ± 0.41 และ rutin 0.88 ± 0.04 (%w/w) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งรูตินมีฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ยังมีการศึกษาวิจัยค่อนข้างน้อย คณะวิจัยจึงศึกษาผลของรูตินต่อการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยวิธี trypan blue exclusion พบว่าที่ 217.12 µM เป็นค่าความเข้มข้นที่ทำให้เซลล์ Molt-4 ตายลงครึ่งหนึ่ง และวิธี microscopic analysis พบรูปแบบการหดตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งเป็นรูปแบบการเกิดอะโพโทซิสใน Molt-4 ที่ 130 µM และเมื่อทดสอบการบ่มรูตินกับเซลล์ที่เวลา 48 ชั่วโมง พบว่ารูตินสามารถชักนำให้เกิดการตายแบบอะโพโทซิสได้จากการวิเคราะห์ด้วยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ และทำการศึกษาผลของรูตินต่อการชักนำการเกิดอะโพโทซิสผ่านสัญญาณ GSK3β พบว่าทำให้ p-Ser9 GSK3β สูงขึ้น และ GSK3β ลดลง ทำให้สามารถสรุปได้ว่าเกิดการยับยั้งของ GSK3β (GSK3β inhibition) และชักนำเซลล์มะเร็งเกิดการอะโพโทซิสได้ในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษากลไกในระดับโมเลกุลเชิงลึกเพิ่มเติมต่อไป