Abstract:
จากการตรวจตัวอย่างอุจจาระไก่พื้นเมือง (ไก่บ้าน) ของเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงปล่อยในชนบทและตัวอย่างอุจจาระไก่ฟาร์มที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมพบว่าความชุกของเชื้อซาลโมเนลล่าเท่ากับ 8.9 และ 5.3% ตามลำดับ โดยพบเชื้อซาลโมเนลล่าในตัวอย่างเนื้อไก่บ้าน 2.8% แต่พบในตัวอย่างเนื้อไก่จากซุปเปอร์มาร์เก็ตและจากตลาดสดสูงถึง 48 และ 90% ตามลำดับ ซึ่งซีโรวาร์ของเชื้อซาลโมเนลล่าที่พบในแต่ละกลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายโดยซีโรวาร์ที่พบบ่อย 3 อันดับแรก ในตัวอย่างอุจจาระไก่บ้านคือ S. Orion, S. Enteritidis และ S. Hvittingfoss ในตัวอย่างอุจจาระไก่ฟาร์มคือ S. Virchow, S. Paratyphi B และ S. Amsterdam และในตัวอย่างเนื้อไก่จากซุปเปอร์มาร์เก็ตคือ S. Anatum, S. Hadar และ S. Schwarzengrund ส่วนซีโรวาร์ที่พบในตัวอย่างเนื้อไก่บ้านมีเพียง 2 ซีโรวาร์ คือ S. Virchow และ S. Amsterdam และซีโรวาร์ที่พบในตัวอย่างเนื้อไก่จากตลาดสด 4 ซีโรวาร์ คือ S. Hadar,S. Blockley, S. Istanbul และ S. Virchow ทั้งนี้อัตราการดื้อต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อซาลโมเนลล่าที่แยกได้จากตัวอย่างอุจจาระไก่บ้านและอุจจาระไก่ฟาร์มพบว่าดื้อต่อยา Ampicillin 0.8 และ 24%, Chloramphenicol 0 และ 13.3%, Kanamycin 0 และ 13.3%, Nitrofurantoin 0 และ 11.7%, Tetracycline 10 และ 29.4%, Nalidixic acid 33.3 และ 59.2%, Ciprofloxacin 0 และ 0%, Furazolidone 4.8 และ 49.7%, Sulfamethoxazole 9.3 และ 16.2%, และ Sulfamethoxazole+Trimethoprim 9.3 และ 12.8% ตามลำดับ ส่วนเชื้อซาลโมเนลล่าที่แยกได้จากตัวอย่างเนื้อไก่จากซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสดพบว่ามีอัตราการดื้อต่อยาสูงกว่ามาก จากการตรวจหาเชื้อเอ็นเตอโรค๊อคคัสในตัวอย่างอุจจาระและในเนื้อไก่พบว่าส่วนใหญ่เป็น Enterococcus fecalis คือ 12-29.6% ส่วน E. faecium พบเพียง 0.7-6.2% และพบว่ามีอัตราการดื้อต่อยา Penicillin, Chloramphenicol, Kanamycin, Gentamicin, Tetracycline, Erythromycin, Streptomycin, Nitrofurantoin และ Tylosin ในเชื้อที่แยกได้จากตัวอย่างอุจจาระไก่ฟาร์มสูงกว่าเชื้อที่แยกได้จากอุจจาระไก่บ้าน ทั้งนี้ไม่พบการดื้อต่อยา Vancomycin ในเชื้อที่แยกได้จากอุจจาระไก่แต่พบในเชื้อที่แยกได้จากตัวอย่างเนื้อไก่ซุปเปอร์มาร์เก็ต 0.3% ผลจากการวิจัยนี้ชี้ว่าเนื้อที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคมีการปนเปื้อนของเชื้อสูงมากซึ่งอาจเกิดในขั้นตอนการฆ่า การขนส่งและ/หรือตัดแต่งเนื้อ นอกจากนี้การใช้ยาต้านจุลชีพในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มีผลทำให้เกิดอัตราการดื้อต่อยาสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรอบคอบและเหมาะสมเพื่อป้องกันและชลอปัญหาเชื้อดื้อยา