Abstract:
การศึกษาลักษณะนิเวศน์ของกบภูเขา พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต คือ สภาพแหล่งที่อยู่อาศัย กบจะอาศัยในลำธารที่มีน้ำไหลและในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิไม่เป็นปัจจัยที่สำคัญ กบจะวางไข่ได้เกือบตลอดปี ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ สภาพกรวดและหินบริเวณพื้นน้ำที่รองรับหลุมไข่ กบภูเขาจะวางไข่ในหลุมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 45-70 ซม. ลึก 4-10 ซม. กบภูเขาที่มีขนาดโตเต็มที่ ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีเขี้ยว 2 อันที่ริมฝีปากล่าง ซึ่งยาวกว่าของตัวเมีย ผิวหนังจะมีลักษณะเรียบและลื่นคล้ายผิวหนังเขียด มีสีน้ำตาลปนเขียว ขาหลังจะมีขนาดใหญ่กว่าขาหน้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับกบนา ทางเดินอาหารสั้น ไม่พบไขมันสะสมหรือถ้าพบก็มีขนาดเล็กมาก ซึ่งเชื่อว่าน่าจะไม่มีการสะสมอาหารเพื่อการจำศีล การศึกษาทางปาราสิตพบพยาธิใบไม้ 5 สกุล พยาธิตัวกลม 4 สกุล โปรโตซัว 6 สกุล และพยาธิหนอนหัวหนามไฟลั่ม Acanthocephalan 1 ตัว ไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ อวัยวะที่พบปาราสิตมากที่สุดได้แก่ ลำไส้ใหญ่ ลำใส้เล็ก ใต้เยื่อบุช่องท้อง ตับและไตตามลำดับ การศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์โดยใช้ฮอร์โมนในการชักนำเพื่อทำให้เกิดการตกไข่ และการหลั่งอสุจิ พบว่าการใช้ต่อมใต้สมองของกบนาจำนวน 5 และ 7 ต่อม ฉีดเข้าช่องท้องของกบภูเขาตัวเมียยังไม่สามารถชักนำให้เกิดการตกไข่ รวมทั้งการใช้ฮอร์โมน HCG 150 IU ฉีดเข้ากบตัวผู้ก็ยังไม่สามารถทำให้กบตัวผู้หลั่งอสุจิได้ และจากผลการศึกษาทาง Histology ของอวัยวะสืบพันธุ์พบว่าในกบภูเขาที่ทำการทดลอง และกลุ่มควบคุม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ p>0.05