Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหมวดคำ หน้าที่ และปริบทการปรากฏของคำว่า "บน" ในภาษาไทย รวมทั้งศึกษาความหมายและมโนทัศน์ กระบวนการและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านความหมาย รวมถึงพัฒนาการด้านความหมาย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2559) จำนวน 2,441 แห่ง ตามแนวคิดอรรถศาสตร์ปริชาน (cognitive semantics) ประกอบกับแนวคิดการกลายเป็นคำไวยากรณ์ (grammaticalization) และแนวคิดกระบวนการเกิดคำใหม่ (lexicalization) ผลการวิจัยมี 4 ประการ คือ ประการที่ 1 คำว่า “บน” ปรากฏในหลากหลายปริบท สามารถทำหน้าที่ได้ 4 หน้าที่ ได้แก่ ส่วนหลัก ส่วนขยาย ส่วนเชื่อม และส่วนเติมเต็ม อีกทั้งยังสามารถจำแนกหมวดคำได้ 4 หมวด ได้แก่ คำนาม คำคุณศัพท์ คำบุพบท และคำกริยาวิเศษณ์ ประการที่ 2 คำว่า “บน” จำแนกความหมายได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ ความหมายเกี่ยวกับบริเวณพื้นที่และความหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ความหมายเกี่ยวกับบริเวณพื้นที่ปรากฏความหมาย ‘บริเวณพื้นที่ส่วนที่สูงขึ้นไปหรือเหนือขึ้นไป’ และความหมาย ‘สถานภาพสูงกว่าหรืออำนาจเหนือกว่า’ ส่วนความหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งปรากฏความหมาย ‘ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่สิ่งหนึ่งอยู่สูงกว่าหรือเหนือกว่าอีกสิ่งหนึ่ง’ ความหมาย ‘ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่สิ่งหนึ่งอยู่ภายในอีกสิ่งหนึ่ง’ และความหมาย ‘ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่สิ่งหนึ่งอยู่ประชิดข้างอีกสิ่งหนึ่ง’ ประการที่ 3 การเปลี่ยนแปลงด้านความหมายของคำว่า “บน” ปรากฏกระบวนการที่เกี่ยวข้อง 4 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการอุปลักษณ์ กระบวนการนามนัย กระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ และกระบวนการเกิดคำใหม่ ส่วนกลไกในกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ที่เกี่ยวข้องมี 5 กลไก ได้แก่ กลไกการขยายความหมายเชิงอุปลักษณ์ กลไกการจางลงทางความหมาย กลไกการคงเค้าความหมายเดิม กลไกการวิเคราะห์ใหม่ และกลไกการอนุมาน ประการที่ 4 พัฒนาการด้านความหมายของคำว่า “บน” แสดงลักษณะการเปลี่ยนแปลงจากแวดวงความหมายหรือมโนทัศน์ที่มีความเป็นรูปธรรมไปสู่แวดวงความหมายหรือมโนทัศน์ที่มีความเป็นนามธรรม