Abstract:
การวิจัยแบบผสานวิธีครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษากรอบมโนทัศน์สมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในบริบทสังคมไทย (2) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติมาตรวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ผู้วิจัยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการมีสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในนักจิตวิทยาการปรึกษาไทย 7 ราย ที่คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 2 การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณเพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติของมาตรวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ปฏิบัติงานด้านการปรึกษาโดยใช้ทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยา นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ด้านจิตวิทยาการปรึกษา และจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและแนะแนว)และนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 สาขาจิตวิทยา จำนวนทั้งสิ้น 461 คน จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ (แบ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพข้อกระทงรายข้อ 85 คน การตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติของมาตรวัดทั้งฉบับ 316 คน และการตรวจสอบความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานด้วยเทคนิคกลุ่มรู้ชัด 60 คน) ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows และ LISREL ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่ากรอบมโนทัศน์สมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ประกอบด้วย 10 ด้าน คือ (1) การตระหนักในพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยม และอคติ ทางวัฒนธรรม (2) การตระหนักในความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรม (3) การตระหนักในทักษะทางวัฒนธรรม (4) ความเข้าใจในพื้นฐาน ความเชื่อ ค่านิยม และอคติ ทางวัฒนธรรมของผู้มาปรึกษา (5) ความเข้าใจในความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรมของผู้มาปรึกษา (6) ความเข้าใจในทักษะทางพหุวัฒนธรรม (7) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในเรื่องพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยม และอคติ ทางวัฒนธรรม (8) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในเรื่องความรู้ทางวัฒนธรรม (9) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในด้านทักษะ กลยุทธ์ และเทคนิคที่เหมาะสม และ (10) การผสมผสานความเป็นมืออาชีพกับการใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว และ ส่วนผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า มาตรวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้นจากกรอบมโนทัศน์ในการศึกษาเชิงคุณภาพระยะที่1 มีจำนวน 47 ข้อ มีความตรงตามเนื้อหาจากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิ มีความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบสอบถามสัมพันธภาพและความร่วมมือในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (r = .48, p < .001) และไม่พบความสัมพันธ์กับมาตรวัดการตอบเพื่อทำให้ดูดีทางสังคม (r = .04, ns) มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบด้วยกลุ่มรู้ชัด (t = 3.71, p < .001) และผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพบว่าโมเดลการวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ที่มี 10 ด้าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ 2 = 40.58; df = 28; p = .059; CFI = 1.00; GFI = .98; AGFAI = .95; SRMR = .03; RMSEA = .04; χ 2/df = 1.45) มาตรวัดมีค่าความเที่ยงแบบสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .957