Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาอิทธิพลของอำนาจและสถานะต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ซึ่งวัดด้วยความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นและการแพร่ทางอารมณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือ นิสิต ระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 99 คน กลุ่มตัวอย่างจะถูกสุ่มเข้าเงื่อนไขการทดลอง 4 เงื่อนไขในการวิจัย อันได้แก่ กลุ่มเงื่อนไขอำนาจและสถานะสูง กลุ่มเงื่อนไขอำนาจสูงแต่สถานะต่ำ กลุ่มเงื่อนไขอำนาจต่ำแต่สถานะสูง และกลุ่มเงื่อนไขอำนาจและสถานะต่ำ กลุ่มตัวอย่างที่มีอำนาจสูงจะได้สิทธิ์ในการจัดสรรเงินในกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มที่มีอำนาจต่ำจะร่วมการทดลองโดยไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ส่วนเงื่อนไขสถานะสูง การตัดสินใจแบ่งเงินของกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม แตกต่างจากเงื่อนไขสถานะต่ำที่สมาชิกทุกคนไม่ยอมรับการแบ่งเงินของกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างดูวิดีทัศน์สื่ออารมณ์กระตุ้นอารมณ์ 4 อารมณ์ คือ สุข เศร้า โกรธและกลัว และวัดการแพร่ทางอารมณ์หลังรับชมวิดีทัศน์ และทำงานจับคู่คำคุณศัพท์ ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณแบบสองทาง (Two-way MANOVA) พบว่า อำนาจและสถานะไม่มีอิทธิพลใดต่อตัวแปรความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่น แต่สถานะมีอิทธิพลทางบวกต่อการแพร่ทางอารมณ์ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีสถานะสูงได้รับการแพร่ทางอารมณ์สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีสถานะต่ำทั้งในทุกอารมณ์ที่ระดับ .01