Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง การสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ความหมายในชีวิต และภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาศิลปะ กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตนักศึกษาศิลปะจำนวน 311 คน อายุเฉลี่ย 20.53±1.43 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป (2) มาตรวัดสมรรถนะการสร้างสรรค์ของเอปสไตน์ (3) มาตรวัดความหมายในชีวิต และ (4) มาตรวัดด้านย่อยภาวะซึมเศร้าของมาตรวัดความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าฉบับ 42 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์เชิงศิลปะมีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.24, p < .01) เช่นเดียวกับความหมายในชีวิต มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.70, p < .01) โดยที่การสร้างสรรค์เชิงศิลปะและความหมายในชีวิต สามารถร่วมกันทำนายภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาศิลปะได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 โดยร่วมกันทำนายความแปรปรวนของภาวะซึมเศร้าร้อยละ 50 (R2 = .50, p < .01) เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐานของแต่ละตัวแปรทำนายพบว่าความหมายในชีวิตมีน้ำหนักค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐานสูงที่สุด (β = -.74, p < .01) ส่วนการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ไม่สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .09, ns)