Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลัง ความหมายในชีวิต (ด้านความเข้าใจความหมายในชีวิตและการค้นหาความหมาย) และปัญหาทางจิตใจ (ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า) ในนักเรียนทุนที่ศึกษาต่อต่างประเทศ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มนักเรียนทุนที่มีอายุเฉลี่ย 30±6.25 ปี จำนวน 271 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ มาตรวัดลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลัง มาตรวัดความหมายในชีวิต มาตรวัดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า (Depression Anxiety Stress Scale:DASS-21) เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลังและความหมายในชีวิตทั้งสองด้านสามารถร่วมกันทำนายปัญหาด้านจิตใจนักเรียนชาวไทยที่ได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยสามารถอธิบายความแปรปรวนของความเครียดได้ร้อยละ 24.7 (R² = .247, p<.01) ความวิตกกังวลได้ร้อยละ 15.2 (R² = .152, p<.01) และภาวะซึมเศร้าได้ร้อยละ 41.3 (R²= .413, p<.01) ทั้งนี้ลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนมีน้ำหนักในการทำนายความเครียด (β = -.263, p<.01) ความวิตกกังวล (β = -.208, p<.01) และภาวะซึมเศร้า (β = -.228, p<.01) ความหมายในชีวิตด้านการเข้าใจความหมายในชีวิต มีน้ำหนักในการทำนายความเครียด (β = -.251, p<.01) ความวิตกกังวล (β = -.198, p<.01) และภาวะซึมเศร้า (β = -.485, p<.01) และความหมายในชีวิตด้านการค้นหาความหมาย มีน้ำหนักในการทำนายความเครียด (β = .204, p<.01) ความวิตกกังวล (β = .155, p<.01) และภาวะซึมเศร้า (β = .102, p<.01) ตามลำดับ