Abstract:
ประเด็นนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นข้อขัดแย้งที่มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยประเด็นนี้นั้นจึงเป็นประเด็นที่มีมิติทางการเมืองอย่างชัดเจนผ่านการกดดันจากกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ในสิ่งที่ตนต้องการผ่านหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางพรรคการเมืองหรือกลุ่มคณะต่าง ๆ ที่มีผลได้ผลเสียกับนโยบายที่จะกำหนดลงโดยงานชิ้นนี้นั้นต้องการที่จะอธิบายและวิเคราะห์พลวัตรของการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยโดยให้ให้ความสำคัญกับบริบททางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของนโยบาย ซึ่งงานชิ้นนี้นั้นได้มีจุดประสงค์ที่จะ วิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่นำไปสู่รูปแบบของการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำภายในบริบทการเมืองที่แตกต่างกัน อธิบายพลวัตรของการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำในบริบททางการเมืองที่แตกต่างกัน และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบอบการเมืองกับการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งงานชิ้นนี้นั้นศึกษาช่วงเวลาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และใช้การเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของการกำหนดนโยบายนี้ สิ่งที่พบในการศึกษาคือการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้นมีรูปแบบทั่วไปที่คล้ายกันในตลอดที่ผ่านมาคือการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีข้อยกเว้นในบางกรณีที่มาจากบริบททางการเมืองพิเศษคือการเลือกตั้ง บริบททางการเมืองนั้นส่งผลกับแนวทางและทิศทางของการกำหนดนโยบายทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่ระบอบการเมืองนั้นไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำแต่เป็นบริบททางการเมืองโดยรวมมากกว่าที่ส่งผลอย่างเห็นได้ชัด