Abstract:
การศึกษาเรื่องบทบาทของท่าอากาศยานในการป้องกันการกระทำผิดขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ : ศึกษากรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของท่าอากาศยาน ปัญหาอุปสรรคของท่าอากาศยาน และการพัฒนาแนวทางของท่าอากาศยาน ในการป้องกันการกระทำผิดขององค์กรอาชญากรรม ข้ามชาติ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) การรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษากรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) ผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้น ณ ท่าอากาศยาน รวมทั้งการสังเกตการณ์ปฏิบัติงานของพนักงานตรวจค้นภายในท่าอากาศยาน และทำการสัมภาษณ์ประชาชนผู้มาใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมการบินยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้การหลั่งไหลของชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง การกระทำผิดขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ท่าอากาศยาน ประกอบด้วย การลักลอบขนงาช้าง การลักลอบขนสัตว์ป่า การลักลอบขนยาเสพติด การเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการกระทำที่เป็นการแทรกแซงอันมิชอบด้วยกฎหมาย (Acts of Unlawful Interference) เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความเชื่อถือและวางใจในมาตรการระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี บทบาทของท่าอากาศยานในการป้องกันการกระทำผิดขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้น พนักงานตรวจค้นจะต้องมีจิตสำนึกในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการคัดกรองวัตถุต้องสงสัยมิให้มีการนำออกไปจากราชอาณาจักร โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนบริเวณโดยรอบท่าอากาศยาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนที่สามารถช่วยเป็นหูเป็นตาในการป้องกันอาชญากรรมให้กับท่าอากาศยาน อย่างไรก็ตามมีกฎหมายที่บังคับใช้กับมาตรการระบบรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งการก่อการร้ายในเขตอากาศยาน ที่เป็นกฎหมายภายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นควรมีการทบทวนและหาแนวทางในการปฎิบัติให้แก่ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่อาจต้องมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามระดับความเสี่ยงของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง รวมถึงท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่ ทอท. จะต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมในอนาคต