Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและหาแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ทางด้านนาฏยศิลป์ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และวิจัยเชิงคุณภาพที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ สื่อสารสนเทศ การสัมมนา เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน และประสบการณ์ของผู้วิจัย พิจารณาข้อมูลเชิงทฤษฎีเชื่อมโยงในประเด็นของรูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ การสร้างสรรค์ และแนวคิดการแสดงนาฏยศิลป์ วิเคราะห์ข้อมูล ทดลองพัฒนาผลงานการสร้างสรรค์เรียบเรียงข้อมูล แสดงขั้นตอนและผลการศึกษา
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการแสดงผลงานสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ที่ปรากฏคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานศิลปิน โดยการคัดเลือกนักแสดงที่มีความหลากหลายในทักษะการเต้นร่วมสมัยและแนวเต้นที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ใช้เสียงไวโอลินบรรเลงสดและเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ใช้พื้นที่ในและนอกวงกลมโดยมีเก้าอี้ 9 ตัววางเป็นวงกลมกลางเวที สวมใส่ชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมาะสมกับสรีระและลีลานาฏยศิลป์ของนักแสดง ออกแบบแสงให้เห็นมิติของร่างกาย นำเสนอเป็น 3 องก์การแสดง ประกอบด้วย
องก์ 1 ยุคบุกเบิก แบ่งเป็น 4 ฉาก คือ ฉาก 1 แนวคิดของลอย ฟูลเลอร์ (Loie Fuller) ฉาก 2 แนวคิดของอิสดอรา ดันแคน (Isadora Duncan) ฉาก 3 แนวคิดของรุท เซนต์เดนนีส (Ruth St Denis) ต่อเนื่องถึงฉาก 4 แนวคิดของเดนนีส-ชอร์น (Denis Shawn)
องก์ 2 ยุคสมัยใหม่ศิลปินรุ่น 1 และ 2 แบ่งเป็น 4 ฉาก ได้แก่ ฉาก 1 แนวคิดของมาธา เกรแฮม (Matha Graham) ฉาก 2 แนวคิดของดอริช ฮัมเฟรย์ (Doris Humphrey) ฉาก 3 แนวคิดของเมอร์ซ คันนิงแฮม (Merce Cunningham) และฉาก 4 แนวคิดของโฮเซ ลีมอน (Jose Limon)
องก์ 3 ยุคหลังสมัยใหม่ แบ่งเป็น 4 ฉาก ได้แก่ ฉาก 1 แนวคิดของลูซินดา ไซล์ส (Lucinda Childs) ฉาก 2 แนวคิดของเดวิด กอร์ดอน (David Gordon) ฉาก 3 แนวคิดของสตีฟ แพกซ์ตัน (Steve Paxton) และฉาก 4 แนวคิดของทวีลา ธาร์ฟ (Twyla Tharp) และแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ทางด้านนาฏยศิลป์ ประกอบไปด้วยประเด็นที่สำคัญ ประการ ได้แก่ 1) ทฤษฎีสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ด้านลีลานาฏยศิลป์ 2) ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยด้านศิลปะและนาฏยศิลป์ 3) แนวคิดของศิลปินทางด้านนาฏยศิลป์เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน 4) คำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ นำมาบูรณาการสร้างผลงานที่มีทักษะหลากหลายโดยไม่ซ้ำแบบใคร 5) ความคิดหลากหลายในงานนาฏยศิลป์ ให้ข้อมูลใหม่ทางด้านการเต้นและการแสดงกับผู้ชม 6) ประสบการณ์ของผู้วิจัย ที่เคยพบมาในด้านต่าง ๆ ผลของงานวิจัยครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัยโดยครบถ้วน และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ทำวิจัยในรุ่นต่อไปได้นำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเนื้อหาของงานวิจัยในอนาคตต่อไป