Abstract:
การบรรเลงเดี่ยวเปียโนเป็นการแสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพของผู้บรรเลง ผู้วิจัยได้ศึกษาและบรรเลงเดี่ยวเปียโนมาโดยตลอดทำให้มีความสนใจในการบรรเลงเปียโนในมิติที่แตกต่างจากเดิม จึงเริ่มทำการศึกษาบทเพลงประเภทเชมเบอร์อย่างจริงจัง งานวิจัยดนตรีสร้างสรรค์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาศักยภาพในการบรรเลงเปียโนในด้านต่าง ๆ ของผู้แสดง เช่น เทคนิคการบรรเลง และการตีความบทเพลง 2) เผยแพร่บทประพันธ์ประเภทรวมวงขนาดเล็กที่สำคัญแก่ผู้สนใจ 3) เผยแพร่บทประพันธ์ของไทยที่มีเอกลักษณ์ไปสู่สากลโลก และ 4) รวบรวมข้อมูลบทเพลง ผู้วิจัยได้คัดเลือกบทประพันธ์เชมเบอร์ที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญต่อวรรณกรรมในยุคบาโรก ยุคคลาสสิก ยุคโรแมนติก และยุคปัจจุบัน โดยแบ่งออกตามประเภทของเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการบรรเลง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องสาย กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ และกลุ่มเครื่องผสม ทำการวิเคราะห์และตีความบทเพลง ฝึกซ้อม และจัดการแสดง 3 รายการ โดยใช้ชื่อว่า ดุษฎีนิพนธ์การแสดงดนตรี ‘ดุลยภาพลีลาเสียงแห่งเชมเบอร์อองซอมเบลอร่วมสมัย’ ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอในรูปแบบวิทยานิพนธ์
ผลจากการวิเคราะห์และตีความบทเพลงใน 3 การแสดงพบว่า การสื่อสารระหว่างผู้บรรเลงเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรเลงบทเพลงสำหรับวงเชมเบอร์ เพื่อให้ผลงานแสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้วิจัย ผู้วิจัยทำการตีความบทเพลง ออกแบบเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับแนวทำนองหลักและแนวบรรเลงประกอบ เลือกใช้เปียโนแทนการใช้ฮาร์ปซิคอร์ด รวมถึงคิดค้นการบรรเลงดังเบา และเปลี่ยนอัตราความเร็วของบทเพลง เพื่อปรับรูปประโยคให้มีความไพเราะมากขึ้นโดยใช้เทคนิค การสร้างสรรค์ลีลาลักษณะการบรรเลง (Creative Dramatic Articulation)