Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพ ตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของ Husserl มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การตีตราตนเองในผู้ติดแอลกอฮอล์ ทั้งชายและหญิง อายุระหว่าง 20-59 ปี ที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยใน มากกว่า 1 ครั้ง ไม่มีโรคทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย และไม่มีภาวะถอนพิษแอลกอฮอล์ รวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก แบบมีแนวทางการสัมภาษณ์ร่วมกับการบันทึกเสียง นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ และวิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีของ Colaizzi จนข้อมูลอิ่มตัวจากผู้ให้ข้อมูล จำนวน 15 ราย
ผลการวิจัยพบว่า ความหมายของการตีตราตนเองในผู้ติดแอลกอฮอล์ คือ ความคิด ความรู้สึกที่มีต่อตนเองว่าเป็นคนไม่ดีเพราะติดแอลกอฮอล์ การตีตราตนเองเริ่มจากการที่ตนเองต้องเผชิญกับปฏิกิริยาต่างๆ จากครอบครัวและสังคม แล้วนำปฏิกิริยาที่ตนเองได้รับรู้ให้เข้ามามีผลต่อความคิด ความรู้สึกภายในของตนเอง และสุดท้ายยอมรับว่าตนเองไม่ดีจริงตามที่คนอื่นว่า สำหรับประสบการณ์การตีตราตนเองในผู้ติดแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การรับรู้มุมมองจากครอบครัวและสังคม 2) การยอมรับตนเองตามที่สังคมมอง และ 3) ผลกระทบจากการยอมรับ (การตีตราตนเอง)
ผลการวิจัยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์การตีตราตนเองในผู้ติดแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับพยาบาลและทีมสุขภาพในการพัฒนากระบวนการบำบัดรักษา และวางแผนการดูแลได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ติดแอลกอฮอล์ที่มีการตีตราตนเอง อันจะนำไปสู่การป้องกันการกลับดื่มซ้ำต่อไป