Abstract:
นโยบายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ (1) นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และ (2) นโยบายฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวและคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญในการวางแผนและดูแลแหล่งท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก การพัฒนาการท่องเที่ยวจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานทั้ง 2 ด้านไปพร้อมๆกัน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวและสภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว และศึกษาการดำเนินนโยบายร่วมกันอย่างเหมาะสมระหว่างนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและนโยบายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาพบว่าในระยะสั้นการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวและคุณภาพสิ่งแวดล้อมมี 2 แบบ คือ (1) เพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงอย่างเดียว และ (2) เพิ่มขึ้นสลับลดลงส่วนแนวโน้มในระยะยาวแบ่งเป็น2 รูปแบบคือ(1)เปลี่ยนแปลงจนเข้าใกล้สภาวะคงตัว และ(2) เปลี่ยนแปลงจนออกห่างจากสภาวะคงตัว สำหรับในกรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด หากไม่มีการดำเนินนโยบายใดๆ การปรับตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มผันผวนลดลงเข้าใกล้สภาวะคงตัว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 325,288คนต่อปี และคุณภาพน้ำร้อยละ 60.68แต่หากมีการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ798,000 ต่อปี และมีคุณภาพน้ำที่ระดับร้อยละ60.25 โดยนโยบายที่เหมาะสมคือ ในช่วงแรก ควรมีการฟื้นฟูคุณภาพน้ำมากและส่งเสริมการท่องเที่ยวน้อย หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ลดการฟื้นฟูคุณภาพน้ำและเพิ่มการส่งเสริมการท่องเที่ยวสลับกันเพื่อลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้น และในสภาวะคงตัวจะมีค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ล้านบาทต่อปี และต้นทุนการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ 336 ล้านบาทต่อปี และได้รับรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการไม่มีนโยบายประมาณร้อยละ 46.21