Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแสดงโขนเยาวชนร่วมสมัย คณะโขนจิ๋วบ้านยิ้ม ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 – พ.ศ.2553 โดยมุ่งศึกษาประวัติความเป็นมาของคณะโขนจิ๋วบ้านยิ้ม องค์ประกอบและการจัดการการแสดง รวมถึงวิธีแสดง ซึ่งเน้นการแสดงชุด “นั่งดูโขน นอนดูหนัง เอนหลังดูหุ่น” เป็นสำคัญ โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ การสำรวจ การสัมภาษณ์บุคคลผู้เกี่ยวข้องในคณะ โขนจิ๋วบ้านยิ้ม และสังเกตการณ์การแสดงในโอกาสต่าง ๆ ผลการวิจัยพบว่าคณะโขนจิ๋วบ้านยิ้มก่อตั้งในปีพ.ศ.2535 โดยนายประเสริฐ สุวรรณวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการในคณะ อีกทั้งมีนางเอื้อมพร สุวรรณวัฒน์ (ภรรยา) เป็นผู้ช่วยดูแล ในรายละเอียดส่วนต่าง ๆ นายประเสริฐได้นำประสบการณ์ด้านศิลปะทั้งด้านงานช่างศิลป์และด้านการแสดงโดยเฉพาะประสบการณ์ที่ได้ช่วยกิจการในคณะหุ่นกระบอกดนตรีไทยสุวรรณวัฒน์ของบิดา (นายยุ้ย สุวรรณวัฒน์) ซึ่งทำให้ นายประเสริฐมีความชำนาญในการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องรามเกียรติ์ และได้นำมาประยุกต์ให้มีความใกล้เคียงกับการแสดงโขนแบบจารีต โดยปรับให้เข้ากับบุคลิกตามธรรมชาติของผู้แสดงซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนอนุบาลบ้านยิ้ม (อายุ 3 - 5 ปี) ต่อมาเปิดรับผู้แสดงที่เป็นเยาวชนภายนอก ทำให้ช่วงอายุของผู้แสดงเพิ่มขึ้น (อายุ 3 - 12 ปี) ลักษณะการแสดงในช่วงแรกของคณะโขนจิ๋วบ้านยิ้มเป็นเพียงการแสดงโขนโดยเยาวชนเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 โรงเรียนอนุบาลบ้านยิ้มได้ปิดตัวลง นายประเสริฐ จึงมีเวลาในการสร้างสรรค์หุ่นละครเล็ก และหนังใหญ่ขึ้น และนำมาแสดงแทรกในการแสดงโขน ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา ซึ่งเป็นการนำการแสดง 3 ประเภทที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ มาเรียงร้อยเป็นการแสดงชุดเดียวกัน โดยใช้ชื่อชุด การแสดงว่า “นั่งดูโขน นอนดูหนัง เอนหลังดูหุ่น” การแสดงชุดนี้ได้ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ขึ้นใหม่ แต่ยังบ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติได้อย่างดี จึงถือเป็นการแสดงในลักษณะนาฏยศิลป์ร่วมสมัย โดยเรียกว่า “การแสดงโขนเยาวชนร่วมสมัย” งานวิจัยฉบับนี้เป็นการนำเสนอการสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏยศิลป์ โดยศิลปินยุคปัจจุบัน ที่อาศัยรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานรวมทั้งใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาเยาวชนในชุมชนให้รู้จักจริยธรรมในการพัฒนาตน พัฒนาชุมชน และพัฒนาชาติ ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งให้ศิลปินรุ่นหลังได้นำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต