Abstract:
คัมภีร์สังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเซตุพนเป็นคัมภีร์ภาษาบาลีที่ประพันธ์เป็นเล่มแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จัดเป็นคัมภีร์ประเภทวังสปกรณ์ ยกเรื่องการสังคายนาเป็นหัวข้อเรื่องหลัก เนื้อหาของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๕ บท บทแรกเป็นบทนำ กล่าวถึงความเป็นมาของปัญหาและวิธีการดำเนินการวิจัย บทที่ ๒ ว่าด้วยลักษณะของวรรณคดีประเภทวังสปกรณ์ความหมายของคัมภีร์สังคีติยวงศ์ สมณศักดิใเละประวัติของผู้รจนา บทที่ ๓ ว่าด้วยลักษณะการรจนาสังคีติยวงศ์ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้าง ลักษณะการประพันธ์ ลักษณะการนำเสนอเนื้อหา บทที่ ๔ กล่าวถึงภาษาบาลีในคัมภีร์สังคีติยวงศ์ลักษณะพิเศษของภาษาบาลีในคัมภีร์สังคีติยวงศ์ การใช้สำนวนโวหาร และอลังการ บทที่ ๕ บทสรุปและเสนอแนะ ผลของการวิจัยพบว่าลักษณะการนำเสนอเนื้อหาในคัมภีร์สังคีติยวงศ์ได้วิวัฒนาการมาจากงานเขียนประเภทวังสปกรณ์อื่น ๆ ด้วยการนำเนื้อหามาจากคัมภีร์ต่าง ๆ มาปรับปรุงและแต่งเสริมเข้าไปในส่วนที่ไม่มีผู้ประพันธ์ไว้ เนื้อหาในส่วนที่สมเด็จพระวันรัตน์ประพันธ์ขึ้นเอง จะมีความพิเศษ กล่าวคือมีการผูกศัพท์ขึ้นมาใช้เอง ภาษาที่ใช้มีการนำสำนวนที่ใช้ในภาษาไทยไปใช้ในภาษาบาลีด้วยซึ่งเป็นลักษณะงานภาษาบาลีในประเทศไทย คัมภีร์สังคีติยวงศ์นี้จัดได้ว่าเป็นวรรณคดีภาษาบาลีเล่มแรกในสมัยรัตนโกสินทร์