Abstract:
ในอดีตชาวมอแกนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงวิถีชีวิตร่อนเร่ทางทะเล ใช้ชีวิตอยู่ในเรือบนเกาะและแถบ ชายฝั่งทะเลอันดามัน ความคุ้นเคยและผูกพันกับทะเลที่สืบทอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปีทำให้ชาวมอแกนปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศทางทะเล สั่งสมความรู้พื้นบ้าน สร้างระบบคิดและระบบคุณค่าที่สอดคล้องกับธรรมชาติและส่งผลให้สังคมมอแกนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่ทำลายระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนของแนวปะการัง ป่าชายเลน และระบบนิเวศชายฝั่งทะเลโดยรวม รายงานชิ้นนี้นำเสนอความรู้และความเช้าใจในโลก ธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอแกนกับนิเวศทางทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “ โลก ” ของชาวมอแกนผ่านทางความรู้พื้นบ้านทางนิเวศของพวกเขาเอง รายงานนี้เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าโดยใช้วิธีสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในกลุ่มชาวมอแกน (Moken) ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ปัจจุบันหมู่เกาะสุรินทร์มีประชากรชาว มอแกนราว 150 คน หรือประมาณ 40 หลังคาเรือน ในปัจจุบันแม้ว่าชาวมอแกนจะตั้งหลักแหล่งมากขึ้น แต่ก็ยังคงใช้ชีวิตหากินอยู่กับทะเล การศึกษาพบว่า “ โลกของชาวมอแกน ” มีสภาพที่หดแคบและถูกจำกัดลงเนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปคือมีการตั้งหลักแหล่งที่ถาวรมากขึ้น การเดินทางทางทะเลจำกัดลง ความรู้พื้นบ้านด้านนิเวศทางทะเลสะท้อนให้เห็นปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจาก มอแกนรุ่นใหม่หันมาพึ่งพาอุทยานแห่งชาติและอาศัยการรับจ้างทำงานรายวันในฤดูท่องเที่ยวเป็นช่องทางในการทำมาหากิน ดังนั้นจึงพบว่า “ช่องว่าง” ของความรู้พื้นบ้านขยายเพิ่มขึ้นระหว่าง มอแกนรุ่นใหม่ (อายุน้อยกว่า 25 ปี) และรุ่นเก่า (อายุมากกว่า 25 ปี) มอแกนรุ่นเก่ามีความรู้และความทรงจำที่ดีเยี่ยมเกี่ยวกับพื้นที่ทำมาหากินทั้งบนบกและในทะเล ครอบคลุมเกาะต่างๆในทะเลอันดามันหลายสิบเกาะ สามารถจำแนกแยกแยะการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางระบบนิเวศของพื้นที่ รวมทั้งยึดมั่นในความเชื่อและจารีตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ความรู้และความทรงจำนี้สืบทอดจากบรรพบุรุษและสั่งสมมาจากประสบการณ์ ปัจจุบันการเดินทางและทำมาหากินทางทะเลถูกจำกัดลงเนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ทำให้ความรู้พื้นบ้านด้านนิเวศทางทะเลลดความหมายและความสำคัญลง และทำให้ความรู้นี้ขาดการสืบสานต่อ ผลที่ตามมาก็คือความละเอียดอ่อนในด้านการดำรงวิถีที่สอดคล้องกับธรรมชาติก็ลดลงและอัตลักษณ์ของมอแกนที่ผูกโยงกับวิถีเร่ร่อนทางทะเลแบบตั้งเดิมก็ลดความหมายลงไปด้วยเช่นกัน